Wednesday, April 15, 2015

I HAVE SOMETHING TO TELL YOU (2015, Surawee Woraphot, A+10)

I HAVE SOMETHING TO TELL YOU (2015, Surawee Woraphot, A+10)
ฉันมีอะไรจะเล่าให้ฟัง

ดูหนังเรื่องนี้ได้ที่

SPOILERS ALERT
--
--
--
--
--
ความรู้สึกที่มีต่อหนังเรื่องนี้

1.ชอบไอเดียของมันนะ แต่เหมือนมันมีปัญหาด้านอารมณ์และความน่าเชื่อถือในช่วงครึ่งหลังน่ะ ตอนนี้เราขอพูดถึงส่วนที่ชอบก่อนก็แล้วกัน ไอเดียที่เราชอบก็คือ ไอเดียของการพลิก genre หนังช่วงกลางเรื่อง จากหนังรักไปเป็นหนังทริลเลอร์สยองขวัญฆาตกรโรคจิต, ไอเดียของการเล่าเรื่องผ่านทางคำพูดตัวละครเป็นหลัก และไอเดียของการเน้นย้ำว่า เรื่องที่แต่ละคนพูดอาจจะไม่ใช่เรื่องจริงก็ได้

2.คือมันมีหนังที่พลิก genre แบบนี้เพียงไม่กี่เรื่องนะ เพราะฉะนั้นเราก็เลยชอบที่หนังเรื่องนี้มันกล้าพลิก genre หนังช่วงกลางเรื่อง แต่ถ้าหากเทียบกับหนังเรื่องอื่นๆที่มีการพลิก genre คล้ายๆกันแล้ว หนังเรื่องนี้จะด้อยกว่าหนังแนวเดียวกันน่ะ อาจจะเพราะมันเป็นหนังสั้นด้วยมั้ง อารมณ์มันเลยไปได้ไม่สุด คือมันเหมือนเราได้ดูหนังรักแค่ครึ่งเรื่องแรก แล้วอารมณ์ก็ค้างเติ่ง แล้วก็ได้ดูหนังสยองขวัญช่วงครึ่งเรื่องแรก แล้วอารมณ์ก็ค้างเติ่งอยู่อย่างนั้น มันก็เลยไม่มีอารมณ์ไหนที่ถูกนำพาไปให้ถึงจุดไคลแมกซ์น่ะ

หนังเรื่องอื่นๆที่มีการพลิก genre ก็เช่น

2.1 FROM DUSK TILL DAWN (1996, Robert Rodriguez)

2.2  WOLF CREEK (2005, Greg Mclean) อันนี้ถึงแม้ว่าหน้าหนังมันจะเป็นหนังสยองขวัญก็จริง แต่ครึ่งเรื่องแรกมันทำตัวเป็นหนังนักท่องเที่ยวธรรมดาๆมากๆ ก่อนจะค่อยเข้าสู่โหมดสยองขวัญอย่างเต็มตัวในครึ่งเรื่องหลัง

2.3 OUT OF FOCUS (2013, Chonticha Thongsuk, 30min)
อันนี้เป็นหนังของม.ศิลปากร เกี่ยวกับหนุ่มสาวที่พบรักกระหนุงกระหนิงกันในสวนสาธารณะ ก่อนจะพลิกเป็นหนังฆาตกรโรคจิตในช่วงครึ่งหลัง

2.4 DON’T FORGET YOU’RE GOING TO DIE (1995, Xavier Beauvois, 118min)
อันนี้เป็นหนังเล่าชีวิตพระเอก ช่วงแรกเป็นหนังดราม่าชีวิตเกี่ยวกับชายหนุ่มชาวฝรั่งเศสที่ค้นพบว่าตัวเองเป็นโรคเอดส์ ช่วงที่สองเป็นหนังรักโรแมนติก เมื่อพระเอกเดินทางไปอิตาลีและพบรัก ช่วงที่สามเป็นหนังสงคราม เพราะหลังจากพบรักที่อิตาลี พระเอกก็เดินทางไปเข้าร่วมสงครามบอสเนีย

ที่ยกตัวอย่างหนัง 4 เรื่องนี้มาก็เพื่อจะเปรียบเทียบให้เห็นได้ง่ายขึ้นว่า ถึงแม้หนัง 4 เรื่องนี้จะมีการพลิก genre เหมือนกัน แต่เราว่าอารมณ์มันไปได้สุดน่ะ ในขณะที่อารมณ์ของ I HAVE SOMETHING TO TELL YOU มันเหมือนจะไปได้ไม่สุดยังไงไม่รู้ มันเหมือนครึ่งๆกลางๆ

3.สาเหตุนึงที่เราว่า อารมณ์มันไปได้ไม่สุด อาจจะเป็นเพราะ

3.1  “ความสั้น” ของหนัง

3.2 การที่หนังทำตัวเหมือนกับว่า “เรื่องทั้งหมดอาจจะเป็นเรื่องโกหกก็ได้” (เพราะนี่มันเป็นวันที่ 1 เม.ย.) มันเป็นทั้งข้อดีและข้อเสียของหนังเรื่องนี้ โดยข้อเสียของมันก็คือมันทำให้อารมณ์สยองขวัญมันไปได้ไม่สุด

3.3 เพลงประกอบในช่วงครึ่งหลัง ที่เป็นเหมือนเพลงโพสต์ร็อคอินดี้ฟุ้งๆ ซึ่งพอมีการเอาดนตรีแบบนี้มาใช้กับฉากฆาตกรโรคจิต เราก็เลยงงๆว่าตกลงผู้สร้างหนังต้องการให้เรารู้สึกยังไงกับฉากนี้กันแน่จ๊ะ หรือต้องการจะกระตุ้นความคิดผู้ชมด้วยการใช้เพลงแบบนี้ ต้องการสื่อถึงความเหงา+ความวิปริตในใจพระเอกหรือเปล่า

คิดเล่นๆแบบขำๆว่าในแง่นึงมันก็ตรงข้ามกับสิ่งที่เราเคยเห็นในหนังของ Jean-Luc Godard นะ เพราะ Godard ชอบเอาดนตรีเขย่าขวัญไปใส่ในฉากธรรมดา คือในฉากที่คนคุยกันธรรมดาๆ หรือฉากที่ขึ้น text วิชาการบนจอ Godard จะเอาดนตรีเขย่าขวัญใส่เข้าไป ส่วนในหนังเรื่องนี้ ทำตรงกันข้าม คือเอาดนตรีฟุ้งๆใส่เข้าไปในฉากเขย่าขวัญ

3.4 ความไม่น่าเชื่อถือของช่วงครึ่งหลัง ซึ่งเราว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้เราไม่ค่อยอินกับหนังเรื่องนี้ เรารู้สึกว่ามันดูไม่ค่อยน่าเชื่อถือเพราะ

3.4.1  ถ้าพระเอกพูดความจริง เป็นคนโรคจิตที่ฆ่าหมานางเอก และตั้งใจจะใช้ยาพิษฆ่าเพื่อนๆ, อาจารย์ และพ่อแม่นางเอกจริงๆ แล้วจะมาสารภาพทำไม เพื่อให้ตัวเองโดนตำรวจจับอย่างนั้นเหรอ คือฆาตกรโรคจิตที่ทำแบบนี้จริงๆก็อาจจะมีแหละนะ แต่หนังมันไม่สามารถนำเสนอสิ่งนี้ให้น่าเชื่อถือได้น่ะ

3.4.2 ถ้าพระเอกแค่อำนางเอกเล่นๆในวันที่ 1 เม.ย. แล้วจะอำนางเอกไปทำไม เพื่ออะไร

พอช่วงครึ่งหลังมันมีความไม่น่าเชื่อถือแบบนี้ มันก็เลยทำให้อารมณ์ของช่วงครึ่งหลังมันไปได้ไม่สุดน่ะ แต่ยังไงก็ตาม เราว่าจบแบบนี้ก็ดีกว่าจบด้วยการเฉลยว่าพระเอกแค่อำนางเอกเล่นๆนะ เพราะถ้าจบด้วยการเฉลยแบบนั้น หนังจะยิ่งไม่น่าจดจำมากยิ่งขึ้นไปอีก คือจบแบบ “อารมณ์ค้างเติ่ง” มันก็ยังน่าจดจำมากกว่าจบแบบ “ทุกอย่างเป็นเรื่องขำๆจ้า”

4.ย้อนกลับมาถึงสิ่งที่เราชอบบ้าง คือเราชอบการเล่าเรื่องด้วยคำพูดน่ะ คือเราว่าสิ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้พิเศษ เก๋ ไม่ซ้ำแบบใครก็คือการเป็นหนังพลิก genre ที่ทำด้วยการเล่าเรื่องเพียงคำพูดเท่านั้น เพราะถ้าหากเทียบกับหนังพลิก genre อีก 4 เรื่องที่เรายกมาเปรียบเทียบด้วยแล้ว หนัง 4 เรื่องนั้นก็จะไม่ได้ใช้วิธีการเล่าเรื่องด้วยคำพูดแบบนี้ เราก็เลยชอบมากที่หนังเรื่องนี้สามารถทำในสิ่งที่ยาก (การพลิก genre) ด้วยวิธีการที่เรียบง่ายมากๆ (ตัวละครสองคนเล่าเรื่องด้วยคำพูด)

5.ชอบที่หนังเรื่องนี้ล้อเล่นกับ “ความจริง-ไม่จริง” ของเรื่องเล่า คือตอนแรกเราจะสะดุดกับ คำพูดบางประโยคที่ประดิดประดอยเกินไปของนางเอก อย่างเช่น “ขอให้คำพูดของเธอได้เป็นอิสระบ้าง” หรือฉากการฆ่าตัวตายของแม่พระเอกที่มันดูเฟคๆ แต่ต่อมาเราก็พบว่า คำพูดที่ประดิดประดอยเกินไปของนางเอก และฉากที่ดูเฟคๆเหล่านี้ สอดรับกับประเด็นของหนังดีแล้ว เพราะเรื่องเล่าของนางเอกอาจจะเป็นเรื่องไม่จริง หรือเป็น “เรื่องจริงที่ไม่ได้ครอบคลุมความจริงทั้งหมด อย่างเช่นความจริงที่ว่า ฉันเป็นกะหรี่” เพราะฉะนั้นการที่นางเอกใช้คำพูดที่สวยหรูเกินไปในการบรรยายชีวิตตัวเอง มันก็เลยเป็นสิ่งที่มีเหตุผล ส่วนฉากที่ดูเฟคๆ มันก็สอดรับกับเรื่อง เพราะฉากเหล่านี้มันอาจจะไม่ใช่ความจริง มันอาจจะเป็นเพียงแค่ “ภาพที่เกิดขึ้นในหัวของนางเอกหลังจากได้ฟังเรื่องเล่าของพระเอก” แต่พระเอกอาจจะไม่ได้พูดความจริงก็ได้

6.ประเด็นเรื่องความจริง-ไม่จริงนี้ทำให้หนังมันสะท้อนสังคมได้โดยที่หนังอาจจะไม่ได้ตั้งใจด้วยนะ 555 เพราะตัวละครในหนังเรื่องนี้อาจจะเล่าเรื่องโกหกด้วยจุดประสงค์ “เพื่อทำให้คนมารัก” และ “เพื่อทำให้คนกลัว” น่ะ ซึ่งเราว่ามันเป็นสิ่งที่เราพบเห็นได้จากสื่อในประเทศไทย ทั้งสื่อหนังสือพิมพ์, อินเทอร์เน็ต และโทรทัศน์ เราจะเห็น “การสร้างเรื่องโกหกเพื่อหลอกให้คนมารัก” อยู่เป็นประจำ และจะเห็น “การสร้างเรื่องโกหกเพื่อให้ประชาชนกลัวใครบางคนหรืออะไรบางอย่าง” อยู่เป็นประจำด้วย การที่หนังตอกย้ำว่า เรื่องเล่าเพื่อสร้างความรัก และเรื่องเล่าเพื่อสร้างความกลัว แบบนี้มีโอกาสสูงที่จะเป็นเรื่องตอแหล ก็เลยทำให้หนังสะท้อนสังคมได้โดยที่หนังอาจจะไม่ได้ตั้งใจ

7.ถ่ายภาพ สวยดี เหมือนเรื่องนี้เน้นการโคลสอัพอวัยวะต่างๆของตัวละคร โดยเฉพาะดวงตา แต่ฉากที่ติดตาเรามากที่สุดคือฉากที่นางเอกโยนลูกบอลสีแดงขึ้นไปในอากาศน่ะ คือเรามักจะชอบฉากที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวกับเนื้อเรื่องโดยตรง หรือฉากที่เราไม่แน่ใจว่ามันสื่อความหมายว่าอะไรกันแน่ในหนังเรื่องต่างๆน่ะ เราก็เลยรู้สึกว่า ฉากโยนลูกบอลสีแดงนี้ติดตาตรึงใจเรามากที่สุด

8.ถ้าหากต้องฉายหนังเรื่องนี้ควบกับหนังเรื่องอื่น เราคงฉายควบกับ

8.1 เธอจะคิดถึงฉันบ้างใช่ไหม (2006, Tossapol Boonsinsukh)

8.2  A PREVIOUS TIME แด่อดีต (2011, Janenarong Sirimaha)

ที่เลือกฉายควบกับหนังสองเรื่องนี้ เพราะเราว่าหนังสองเรื่องนี้มันล้อกับช่วงครึ่งแรกและครึ่งหลังของ I HAVE SOMETHING TO TELL YOU ได้ดีน่ะ เพราะ “เธอจะคิดถึงฉันบ้างใช่ไหม” เป็นหนังที่หนุ่มสาวสองคนคุยกันในช่วงกำลังจะจบการศึกษา ก็เลยคล้ายกับช่วงครึ่งแรกของ I HAVE SOMETHING TO TELL YOU ส่วน A PREVIOUS TIME เป็นเรื่องเกี่ยวกับวันจบการศึกษาของกะหรี่สาวมหาลัย ก็เลยทำให้นึกถึงช่วงครึ่งหลังของ I HAVE SOMETHING TO TELL YOU

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ทำให้หนังสองเรื่องนี้แตกต่างจาก I HAVE SOMETHING TO TELL YOU ก็คือว่า การที่หนังสองเรื่องนี้ไม่ได้เล่นกับการพลิก genre และไม่ได้เล่นกับความจริง-ไม่จริง ก็เลยทำให้หนังสองเรื่องนี้ผลักอารมณ์ในแนวทางหนังของตัวเองให้ไปจนสุดได้น่ะ โดยเฉพาะ A PREVIOUS TIME ที่นำเสนอเรื่องของกะหรี่สาวมหาลัยได้อย่างน่าเชื่อถือมาก


สรุปว่า เราชอบ  I HAVE SOMETHING TO TELL YOU มากพอสมควรนะ ชอบการพลิก genre, การเล่าเรื่องด้วยคำพูด และการเล่นกับความจริง-ไม่จริง อย่างไรก็ดี ไอเดีย 3 อย่างที่เราชอบในหนังเรื่องนี้ อาจจะเป็นได้ทั้งข้อดีและข้อเสียของหนัง เพราะมันอาจจะเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้อารมณ์ของหนังเรื่องนี้ออกมาครึ่งๆกลางๆ และดูไม่ค่อยน่าเชื่อถือมากนัก

No comments: