Saturday, April 18, 2015

THE ABC OF LOVE (1916, Magnus Stifter, Germany, A-)

THE ABC OF LOVE (1916, Magnus Stifter, Germany, A-)

หนังโรแมนติกคอมเมดี้ที่ออกฉายครั้งแรกเมื่อ 99 ปีก่อน หนังมีเนื้อหาเกี่ยวกับลิซ (Asta Nielsen) สาวแก่นแก้วที่เพิ่งได้เจอหน้าคู่หมั้นหนุ่มที่ชื่อฟิลิปป์ (Ludwig Trautmann) เป็นครั้งแรก พอลิซได้เห็นหน้าคู่หมั้น เธอก็ไม่พอใจ เธอคิดว่าฟิลิปป์ดูเรียบร้อยเกินไป ดูไม่แมน เธอก็เลยหลอกพาฟิลิปป์ไปปารีสเพื่อสอนให้ฟิลิปป์รู้จักทำตัวแมนๆ โดยที่เธอเองก็ปลอมตัวเป็นผู้ชายด้วย แล้วเรื่องตลกชวนหัวต่างๆก็เกิดขึ้นตามมา

อันนี้เป็นหนังเรื่องที่สองของ Asta Nielsen ที่เราได้ดู ซึ่งทั้ง THE SUFFRAGATE (1913, Urban Gad) และเรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงจารุณี สุขสวัสดิ์นะ ในแง่บุคลิกนางเอกประเภทแก่นแก้ว หรือมีความเป็นเด็กชายซนๆอยู่ในตัวด้วยน่ะ คือนางเอกของทั้งสองเรื่องนี้จะไม่ใช่หญิงสาวสวยเซ็กซี่ หรือหญิงสาวสวยเรียบร้อย แต่จะเป็นหญิงสาวซุกซนแก่นแก้ว

แต่ตัวละครหญิงที่ Asta แสดงในหนังทั้งสองเรื่องนี้ ก็จะไปไกลกว่าตัวละครนางเอกหนังไทยอยู่บ้างนะ โดยใน THE SUFFRAGATE นั้น นางเอกของเรื่องได้ทำอะไรที่รุนแรงมากๆในตอนหลัง ส่วนใน THE ABC OF LOVE นั้น นางเอกเป็นฝ่ายที่เหมือนจะพยายามหาทางจูบพระเอกอยู่เรื่อยๆ ในขณะที่พระเอกดูเหมือนจะไม่ได้อยากจูบนางเอกมากนัก คือตัวละครนางเอกใน THE ABC OF LOVE ดูเหมือนจะแสดงความเงี่ยนออกมาได้มากกว่าตัวละครนางเอกหนังโรแมนติกคอมเมดี้ของไทยโดยทั่วไปน่ะ

ส่วนตัวพระเอกนั้น เรานึกถึง Hugh Grant สมัยทศวรรษ 1980 คือเห็นปุ๊บก็รู้สึกว่า “หล่อ น่ารักดี” ดิฉันเอาเป็นผัวได้ในทันทีค่ะ แต่การที่นางเอกปฏิเสธผู้ชายรูปร่างหน้าตาแบบนี้ในทันที ก็เลยทำให้เราสงสัยว่า หรือว่ายุคทศวรรษ 1910 ผู้ชายที่มีบุคลิกลักษณะแบบนี้ยังไม่เป็นที่นิยมในวงกว้างกัน หรือว่ามันเป็นแค่ตัวละครนางเอกตัวนี้เท่านั้นที่ไม่ชอบผู้ชายบุคลิกแบบนี้

หนังเรื่องนี้ออกฉายในช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 แล้วด้วยนะ สงครามโลกครั้งที่หนึ่งเริ่มต้นในปี 1914 ส่วนในปี 1916 ที่หนังเรื่องนี้ออกฉาย เยอรมนีกับฝรั่งเศสน่าจะรบกันอย่างหนักแล้ว แต่ดูเหมือนเนื้อหาในหนังเรื่องนี้เกิดขึ้นในโลกที่ไม่มีสงครามแต่อย่างใด

มีฉากนึงในหนังเรื่องนี้ที่เราไม่แน่ใจว่าเป็นการล้อ Charlie Chaplin ด้วยหรือเปล่า เพราะมันมีฉากที่นางเอกเหมือนจะพยายามแต่งตัวและทำท่าทางแบบชาร์ลี แชปลิน เราเข้าใจว่าแชปลินเริ่มโด่งดังในปี 1914 เพราะฉะนั้นเราก็เลยเดาว่ามีความเป็นไปได้ที่บางฉากในหนังเรื่องนี้อาจได้รับอิทธิพลมาจากแชปลิน

SPOILERS ALERT
--
--
--
--
--
อย่างไรก็ดี THE ABC OF LOVE ก็ทำให้เรานึกถึงหนังน้ำเน่า/ละครน้ำเน่า/นิยายน้ำเน่าของไทยด้วยเหมือนกัน คือมันเป็นเรื่องราวประเภท ฉันไม่พอใจคู่หมั้นที่พ่อแม่จัดหาให้ แต่พอได้เรียนรู้นิสัยใจคอกันไป ฉันก็รักคู่หมั้นคนนี้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองเลือกให้เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ฉันไม่มีความจำเป็นต้องเลือกเอง หรือลุกขึ้นมาปฏิวัติเรียกร้องสิทธิในการเลือกของตัวเองแต่อย่างใด

คือดู SUFFRAGATE และ THE ABC OF LOVE แล้ว ก็จะรู้สึกขัดอกขัดใจกับ “การทำตัวเป็นคนดีตามขนบของสังคม” ในหนังสองเรื่องนี้มากๆนะ มันก็เลยทำให้เราชอบหนังสองเรื่องนี้แค่ในระดับ A- แต่น่าดีใจที่พอหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เยอรมนีก็ผลิตหนังที่ “ไปสุดทาง” อย่าง THE CABINET OF DR. CALIGARI (1920, Robert Wiene) และ NERVEN (1919, Robert Reinert, A+30) ออกมา คือเรารู้สึกว่าตัวละครหญิงใน NERVEN มันไปสุดทางของมันจนกู่ไม่กลับ ไม่แคร์กระแสสังคมอะไรอีกต่อไปแล้วน่ะ เราก็เลยรู้สึกว่าตัวละครหญิงใน NERVEN มันเข้าทางเรามากๆ ในขณะที่ตัวละครหญิงใน THE SUFFRAGATE และ THE ABC OF LOVE ยังต้องก้มหัวให้กับสังคมอยู่

สำหรับคนที่สนใจเรื่องของเยอรมันยุคเมื่อราว 70-100 ปีก่อน สามารถอ่านได้ที่เพจนี้จ้ะ


No comments: