Tuesday, April 28, 2015

A SEPARATION (2013, Karin Ekberg, Sweden, documentary, A+20)


A SEPARATION (2013, Karin Ekberg, Sweden, documentary, A+20)

หนังสารคดีที่ลูกสาวบันทึกช่วงชีวิตของพ่อแม่ตัวเองขณะหย่าร้างกัน

หนังเรื่องนี้ทำให้นึกถึงประเด็นต่อไปนี้

1.หนึ่งในสิ่งที่ชอบมากๆในหนังเรื่องนี้ก็คือว่า เราแทบไม่เคยเห็นสารคดีแบบนี้มาก่อนน่ะ คือมันมีหนังสารคดีหลายเรื่องมากที่ผู้กำกับบันทึกภาพครอบครัวตัวเอง แต่เราไม่เคยเห็นหนังสารคดีเรื่องไหนที่บันทึกภาพการหย่าร้างในครอบครัวตัวเองน่ะ เราก็เลยรู้สึกว่ามันโดดเด้งมากๆในด้านนี้

2.เราชอบมากๆที่การหย่าร้างในหนังเรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงวลีที่ว่า “ภายใต้ผิวน้ำที่ดูเหมือนนิ่งสนิทนั้น อาจจะมีกระแสธารที่เชี่ยวกรากไหลอยู่ข้างใต้” เพราะในหนังเรื่องนี้เราจะไม่ได้เห็นการระเบิดอารมณ์ ด่าทอกันอย่างสาดเสียเทเสียแบบที่เราอาจจะเห็นได้ในหนัง fiction เกี่ยวกับการหย่าร้างเรื่องอื่นๆน่ะ ซึ่งสาเหตุนึงอาจจะเป็นเพราะว่า หนังเรื่องนี้เริ่มบันทึกภาพหลังจากสามีภรรยาคู่นี้ตัดสินใจกันแน่นอนแล้วว่าจะหย่ากัน และอาจจะเป็นเพราะว่าสามีภรรยาคู่นี้ไม่อยากแสดงอาการด่าทอกันอย่างรุนแรงต่อหน้ากล้องก็เป็นได้

เพราะฉะนั้นในหนังเรื่องนี้ เราก็เลยได้เห็นเพียงแค่การโต้เถียงกันและการเหน็บแนมกันเล็กๆน้อยๆระหว่างสามีภรรยาคู่นี้เท่านั้น โดยทั้งสองเถียงกันในประเด็นที่ดูเหมือนจะเล็กๆน้อยๆ อย่างเช่น “ก็เธอบอกไปแล้วไม่ใช่หรือว่าเธอจะไม่เอาภาพวาดนี้ ฉันก็เลยนึกว่าฉันจะเอาภาพวาดนี้ไปได้” หรือ “เราตกลงกันแล้วไม่ใช่หรือว่า แก้วกาแฟจะต้องเป็นของฉัน”

เราว่าไอ้การเถียงกันเล็กๆน้อยๆแบบนี้นี่แหละ มันเป็นสิ่งที่อาจจะขาดหายไปจากหนัง fiction ทั่วๆไปที่มักเน้นการระเบิดอารมณ์อย่างรุนแรง และไอ้การเถียงกันเล็กๆน้อยๆนี่แหละ มันสามารถสะท้อนถึงอดีตที่ทุกข์ตรมและปัจจุบันที่ขมขื่นได้ คือหนัง fiction ทั่วๆไปเกี่ยวกับการหย่าร้าง มันเหมือนกับเป็นการแสดงภาพของ “ภูเขาไฟระเบิด” น่ะ แต่หนังสารคดีเกี่ยวกับการหย่าร้างเรื่องนี้ มันเหมือนแสดงภาพของ “ภูเขาน้ำแข็ง” ที่เราจะเห็นเพียงแค่ 10% ของมันโผล่พ้นผืนน้ำขึ้นมาเท่านั้น แต่ถ้าหากเราใช้จินตนาการของเราเองด้วย เราจะรู้สึกได้ถึง 90% ของภูเขาน้ำแข็งที่อยู่ใต้ผิวน้ำ

3.เราชอบมากที่การหย่าร้างในหนังเรื่องนี้ ในที่สุดมันก็เป็นเหมือนเรื่องธรรมดาเรื่องนึง เป็นขั้นตอนธรรมดาๆของชีวิต และอาจจะนำไปสู่ความสุขและชีวิตที่ดีขึ้นได้น่ะ การหย่าร้างมันไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายแต่อย่างใด ความเปลี่ยนแปลงมันเป็นเรื่องธรรมดา และความเปลี่ยนแปลงมันเป็นนิรันดร์

4.เราชอบดวงตาของพ่อผู้กำกับมากๆ เขาดูเศร้ามากๆตอนที่เขาหย่าร้างในตอนแรก แต่พอเขาได้เจอกับผู้หญิงคนใหม่ในชีวิต ดวงตาของเขาเปล่งประกายที่มีความสุขอย่างเห็นได้ชัดมากๆ

5.อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่หนังเรื่องนี้ไม่ได้ตั้งใจ คือมันทำให้เรานึกถึงข้อจำกัดของหนังสารคดีน่ะ คือหนังเรื่องนี้เน้นการสัมภาษณ์ชีวิตอารมณ์ความรู้สึกและความคิดเห็นของคู่สามีภรรยาคู่นี้ก็จริง และสามีภรรยาคู่นี้ก็ดูเหมือนจะกล้าแสดงความเห็นมากพอสมควรต่อหน้ากล้องก็จริง แต่เรารู้สึกว่าหนังเรื่องนี้มันขาด poetic touch หรือความประทับใจในแบบที่ลึกไปถึงจิตวิญญาณน่ะ คือเราว่าหนังเรื่องนี้มันทำได้ดีสุดๆในแบบของตัวเองแล้วแหละ แต่เราว่ามันใช้กลวิธีแบบ “หนังสารคดีธรรมดา” มากเกินไปตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง แต่ถ้าหากมันนำเอากลวิธีแบบ “หนังเชิงกวี” มาใช้ด้วย มันอาจจะลงลึกไปถึงจิตวิญญาณได้มากกว่านี้

คือเราคิดว่าการที่หนังเรื่องนี้มัน deal กับ “การหย่าร้างของสามีภรรยาคู่นึง” มันก็เลยอาจจะน่าประทับใจกว่านี้ ถ้าหากมันลงลึกไปถึงจิตวิญญาณของสามีภรรยาคู่นี้ได้น่ะ ซึ่งมันต้องอาศัยมากกว่าคำให้สัมภาษณ์แบบตรงไปตรงมาของสามีภรรยาคู่นี้ มันอาจจะต้องอาศัยการเรียงร้อยฉากอะไรบางอย่างที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกับหนังโดยตรง แต่สามารถสื่ออารมณ์ความรู้สึกตรงจุดนั้นออกมาได้

คือเรากำลังนึกถึงข้อจำกัดของหนังสารคดีน่ะ คือถ้าเปรียบเทียบง่ายๆ เราก็คิดว่า “หนังสารคดี” โดยทั่วๆไป อาจจะเปรียบเหมือน “ภาพถ่ายแบบตรงไปตรงมา” ไม่ต้องแต่งฟิล์ม, ใส่ effect อะไรเข้าไป แค่อาศัยจังหวะที่เหมาะสม, มุมกล้องที่เหมาะสม เราก็อาจจะได้ภาพถ่ายที่สามารถถ่ายทอดความจริงอย่างทรงพลังออกมาได้

ซึ่งเราว่าสิ่งนี้มันจะ work ถ้าหากหนังสารคดีเรื่องนั้นไม่ได้เน้น deal กับจิตวิญญาณส่วนลึกของมนุษย์ แต่เน้น deal กับสิ่งที่เป็นรูปธรรม อย่างเช่น อาชญากรสงคราม, ปัญหาความยากจนแร้นแค้น, ปัญหาความไม่เป็นธรรมต่างๆนานาในสังคม หรือระบบและโครงสร้างของสถาบันต่างๆ (อย่างเช่นหนังของ Frederick Wiseman และหนังบางเรื่องของ Raymond Depardon) เพราะ “ภาพถ่าย” ที่ทรงพลัง ก็สามารถนำเสนออะไรต่างๆนานาในแบบที่คล้ายๆกันนี้ได้

แต่พอมันเป็นเรื่องที่ deal กับอะไรที่เป็นนามธรรม, ความเป็นมนุษย์ และจิตวิญญาณของมนุษย์แล้ว เราว่าบางที “หนังสารคดีแบบตรงไปตรงมา” อาจจะถ่ายทอดตรงจุดนี้ได้ไม่ดีเท่ากับ “หนังสารคดีที่มีลักษณะแบบหนังเชิงกวี” น่ะ อาจจะเปรียบเทียบง่ายๆว่าเหมือนกับความแตกต่างระหว่าง “ภาพถ่ายวิวทิวทัศน์” กับ ภาพเขียนแบบ Impressionist คือภาพถ่ายวิวทิวทัศน์อาจจะสะท้อน “ความจริงทางกายภาพ” ของภูมิประเทศตรงนั้นได้ดีกว่าภาพเขียนแบบ Impressionist แต่ภาพเขียนแบบ Impressionist สะท้อน “ความรู้สึกของเราที่มีต่อทิวทัศน์ตรงนั้น” ได้ดีกว่าภาพถ่าย

ลองดูตัวอย่างภาพเขียนแบบ Impressionist อย่างเช่น ภาพนี้ของ Claude Monet

คือเรารู้สึกว่าหนังสารคดีหลายๆเรื่องที่มีลักษณะเชิงทดลองหรือลักษณะเชิงกวีเข้ามาผสมด้วย อาจจะเทียบได้กับภาพเขียนแบบ Impressionist หรือภาพเขียน portrait ของศิลปินชื่อดังน่ะ มันไม่ได้เน้นสะท้อนความจริงทางกายภาพหรือความจริงเชิงรูปธรรมเพียงอย่างเดียว แต่มันสามารถสะท้อนอะไรที่เป็นนามธรรม และความรู้สึกอะไรหลายๆอย่างที่ยากจะอธิบายออกมาเป็นคำพูดได้ด้วย

ตัวอย่างหนังสารคดีที่มีลักษณะเชิงกวีผสมอยู่ด้วย ก็เช่น WHAT NOW? REMIND ME (2013, Joaquim Pinto, Portugal), ELENA (2012, Petra Costa, Brazil), THE CAT THAT LIVED A MILLION TIMES (2012, Tadasuke Kotani), FOREVER (2006, Heddy Honigmann, Netherlands) และ A BRIEF HISTORY OF MEMORY (2010, Chulayarnnon Siriphol)

แต่ผู้กำกับหนังสารคดีที่เก่งมากๆบางคน ก็สามารถทำให้เราประทับใจอย่างสุดขีดกับการนำเสนอมนุษย์ในหนังของเขาได้นะ โดยที่เขาดูเหมือนจะไม่ได้ใช้วิธีการแบบหนังทดลองหรือหนังเชิงกวีอย่างเห็นได้ชัด คือเรานึกถึงผู้กำกับอย่าง Raymond Depardon และ Volker Koepp น่ะ มันเหมือนกับว่าผู้กำกับบางคนมี magic touch อะไรบางอย่าง เขาถึงสามารถนำเสนอมนุษย์ในหนังของเขาในแบบที่ทำให้เรารู้สึกว่ามันเต็มไปด้วยอะไรที่ถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูดไม่ได้

สรุปว่าเราชอบ A SEPARATION มากๆแหละ แต่เรารู้สึกเหมือนกับว่า หนังเรื่องนี้มันไม่ได้สะเทือนเราแบบสุดๆ ซึ่งสาเหตุหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าหนังเรื่องนี้ใช้วิธีการแบบหนังสารคดีธรรมดาๆมากเกินไป แต่ถ้าหากหนังเรื่องนี้ใช้วิธีการแบบหนังทดลอง/หนังเชิงกวีมาผสมด้วย หรือถ้าหากผู้กำกับหนังเรื่องนี้มี magic touch หนังเรื่องนี้อาจจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับเราได้มากกว่านี้




No comments: