THE REUNION (2013, Anna Odell, Sweden, A+30)
SPOILERS ALERT
--
--
--
--
--
1.ช่วงครึ่งแรกของหนังนี่ก็ได้ A+30 จากเราไปเลยนะ เพราะมันทำให้เรานึกถึง “ความลักลั่นในงานรื่นเริง” (2007,
Prap Boonpan, A+30) เพียงแต่เปลี่ยนจากประเด็นสังคมการเมืองมาเป็นเรื่องในวงแคบลงมาหน่อย
ชอบสิ่งที่นางเอกพูดมากๆ ที่บอกว่า “ที่ฉันต้องมาพูดที่นี่ในตอนนี้
เพราะฉันต้องการจะพูดในสิ่งที่ไม่เคยพูดได้มาก่อน” เพราะเราจะอินกับส่วนนี้มากๆ
มันมีคนหลายคนที่ต้องการจะพูดอะไรบางอย่าง แต่เขาไม่สามารถพูดได้
เพราะสังคมไม่เปิดโอกาสให้เขาได้พูด สังคมปิดกั้นเสียงของเขาออกไป
และมันก็เกิดเป็นความทุกข์ทรมานใจ และในวันหนึ่งเมื่อเขามีโอกาสได้พูดออกมา
พวกที่เคยกดขี่เขามาก่อนก็จะไม่สบอารมณ์ และต้องพยายามหาทางขจัดเสียงของเขาออกไป
2.หลายคนในงานเลี้ยงถามนางเอกว่า “ทำไมเธอถึงต้องมาพูดที่นี่ในตอนนี้
ทำไมเธอไม่นัดแต่ละคนไปคุยกันด้วยตัวเองนอกงาน”
ซึ่งมันเป็นคำถามที่ได้รับคำตอบอย่างชัดเจนในส่วนที่สองของหนัง
ว่าถ้าหากนางเอกเลือกใช้วิธีแบบนั้น ก็จะมีหลายคนที่ไม่รับโทรศัพท์หรือไม่ยอมมาเจอนางเอก
3.นอกจากช่วงครึ่งแรกของหนังจะทำให้เรานึกถึง “ความลักลั่นในงานรื่นเริง” แล้ว
มันยังทำให้เรานึกถึงอารมณ์เข้มข้นในหนัง DOGMA บางเรื่องอย่าง THE
CELEBRATION (1998, Thomas Vinterberg, A+30) ด้วยนะ คือมันเป็นสถานการณ์ที่ดูสมจริงมากๆ
และพอมันเกิดในสถานที่เดียว ช่วงเวลาเดียว มันก็เลยเข้มข้นตึงเครียดมากๆ
เราดูแล้วอยากให้มีใครสักคนทำละครเวทีทำนองนี้ออกมาเลยน่ะ
เป็นละครเวทีเกี่ยวกับงาน reunion ที่มีการลำเลิกความหลัง ด่าทอจิกหัวตบกันอย่างรุนแรงกลางงาน
4.แต่ช่วงครึ่งหลังของหนังนี่ไปไกลมาก มันทำให้เรานึกถึง THE LOOK OF SILENCE (2014, Joshua
Oppenheimer, documentary, A+30) ที่ “ผู้กำกับภาพยนตร์” นำ “เหยื่อ”
ไปเผชิญหน้ากับ “ผู้ที่เคยทำร้ายเหยื่อ” โดยมีการใช้ภาพยนตร์เป็น “อาวุธ” และ “เครื่องมือเยียวยาจิตใจ”
เหมือนๆกัน แต่ต่างกันตรงที่ใน THE REUNION นั้น “ผู้กำกับภาพยนตร์”
และ “เหยื่อ” คือคนเดียวกัน
5.ชอบการใช้ภาพยนตร์เป็น “อาวุธ” และ “เครื่องมือเยียวยาจิตใจ” มากๆ
มันทำให้เรารู้สึกได้ถึงศักยภาพของภาพยนตร์ที่ไปไกลกว่าหนังทั่วๆไป
6.ชอบช็อตที่ใส่เข้ามาในหนังเป็นระยะๆ ที่เป็นฉากทางเดินในโรงเรียน
กับช็อตจบที่กล้องลอยขึ้นไปบนฟ้า มันทำให้เรานึกถึงจิตวิญญาณของนางเอกน่ะ
มันเหมือนกับว่าบาดแผลในอดีตมันทำให้จิตวิญญาณของเธอยังคงวนเวียนอยู่ในโรงเรียน
ไม่ยอมไปไหนสักที แต่เมื่อเธอได้ “พูด” ออกมาแล้ว ได้ระบายออกมาแล้ว
จิตวิญญาณเธอก็เป็นอิสระ และลอยออกจากโรงเรียนกลับขึ้นสู่ท้องฟ้าได้
7. ชอบการที่นางเอกพยายาม “เปิดโอกาสให้อีกฝ่ายได้พูด” มากๆ ถ้าหากเป็นเรา
เราคงไม่ใจกว้างกับคนที่เคยทำร้ายเราขนาดนั้น
8.ดูแล้วทำให้คิดได้ว่า ศิลปินหลายๆคนสามารถดัดแปลงความเลวร้ายหรือด้านลบในชีวิตตัวเองออกมาเป็นพลังในทางบวก
หรืองานศิลปะได้น่ะ
ทำให้นึกถึงนักศึกษาไทยหลายๆคนที่มีปัญหาด่าทอตบตีกับอาจารย์ในมหาลัย
และก็สามารถดัดแปลงความเจ็บช้ำใจที่มีต่ออาจารย์มหาลัยออกมาเป็นภาพยนตร์ที่ดีมากๆได้
อย่างเช่นเรื่อง EMPLOYEES LEAVING THE LUMIERE FACTORY (2010,
Chaloemkiat Saeyong) และ DANGER (DIRECTOR’S CUT) (2008,
Chulayarnnon Siriphol)
คือเรานับถือศิลปินเหล่านี้ที่สามารถดัดแปลงพลังแห่งความโกรธแค้นออกมาเป็นงานศิลปะที่งดงามได้น่ะ
คือเราคิดเล่นๆว่า ถ้าหากนางเอกของ THE REUNION ไม่สามารถหาวิธีดัดแปลงพลังแบบนี้
มันก็อาจจะเกิดเหตุการณ์ “เอาคืน” แบบในหนังเรื่อง NOTHING CAN TOUCH ME
(2011, Milad Alami) ขึ้นมาได้
9.นอกจาก THE REUNION จะทำให้นึกถึงชื่อหนังไทยเรื่อง “ความลักลั่นในงานรื่นเริง”
แล้ว หนังเรื่องนี้ยังทำให้เรานึกถึงชื่อหนังไทยอีกเรื่องด้วย นั่นก็คือ “เสียงที่ออกไม่ได้ในจักรวรรดิทางภาษาของคุณ”
(2008, Ratchapoom Boonbunchachoke) แต่ THE REUNION ไม่ได้มีอะไรใกล้เคียงกับหนังเรื่องนี้นะ
เพียงแต่ว่าสิ่งที่เราชอบที่สุดใน THE REUNION มันคล้ายๆกับชื่อหนังเรื่องนี้น่ะ
มันคือเรื่องของการเปล่งเสียงของคนที่ไม่เคยได้รับอนุญาตให้เปล่งเสียงมาก่อน
มันคือเรื่องของคนที่อยากจะพูด แต่ถูกกดขี่ไว้ไม่ให้ได้พูด พวกที่กดขี่เขาพยายามทุกทางไม่ให้เขาได้เปล่งเสียงออกมา
และเมื่อคนที่ถูกกดขี่เปล่งเสียงออกมา พวกที่กดขี่เขาบางคนก็ทำเป็นไม่เข้าใจ
ไม่รับรู้ ราวกับว่าพวกเขาฟังไม่ออก ราวกับว่าเสียงที่คนคนนั้นพูดออกมาเป็นภาษาอื่น
เป็นคำที่ไม่เคยปรากฏอยู่ในจักรวรรดิทางภาษาของพวกมัน
10.การที่คนพวกนั้นพยายามปฏิเสธเสียงของนางเอกใน THE REUNION มันทำให้เรานึกถึง
quote ที่เราชอบมากจากหนังเรื่อง EVERY MAN FOR
HIMSELF AND GOD AGAINST ALL (1974, Werner Herzog) น่ะ มันคือ quote
ที่ว่า “Do you not then hear this horrible scream all
around you that people usually call silence.”
1 comment:
--จังหวะที่เราว่าดีมากๆจังหวะนึงในหนัง คือคนแรกที่ทำร้ายร่างกายนางเอกในงานเลี้ยง เป็นผู้ชายที่ดูเหมือนไม่ได้อยู่ในกลุ่ม top ของรุ่นน่ะ เหมือนเป็นผู้ชายเงียบๆที่ลุกหนีนางเอก และอาจจะสนิทกับผู้หญิงที่ร้องห่มร้องไห้ เราว่าคนแบบนี้น่ากลัวมากๆ คือดูเหมือนไม่ใช่ตัวหัวหน้าใหญ่ ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม top แต่เป็นคนในชั้นกลาง เป็นคนที่ยอมรับโครงสร้างสังคม bully และเป็นคนเงียบๆที่สามารถลุกขึ้นมาทำร้ายคนได้ในทันที
Post a Comment