THE EYE OF THE DAY (2001, Leonard Retel Helmrich, Indonesia,
documentary, A+30)
--ไม่ทันได้ดูหนังเรื่องนี้ใน Salaya Documentary Film Festival แต่โชคดีที่หนังเรื่องนี้มีให้ดูในเว็บไซต์ข้างล่างนี้
แต่ต้องจ่ายค่าดูในราคาประมาณ 13 บาทต่อเรื่อง
--ชอบการเลือกซีนของผู้กำกับมากๆ
มันเหมือนเป็นการนำเสนอแง่มุมต่างๆของชีวิตชาวอินโดนีเซีย
มากกว่าจะเป็นการพยายามเล่าเรื่องราวของครอบครัว Rumidjah เป็นเส้นตรง
แต่ลักษณะแบบนี้อาจจะน้อยลงในภาคสอง (SHAPE OF THE MOON) และภาคสาม
(POSITION AMONG THE STARS) คือเราว่าในภาคแรกนี้
เราแทบไม่เห็นซีนคนในครอบครัวนี้คุยกันเลยน่ะ
เราจะได้เห็นคนในครอบครัวนี้คุยกันแค่สั้นๆเท่านั้น
ซีนส่วนใหญ่ที่เราได้เห็นจะเป็นการทำมาหากินของชาวอินโดนีเซีย
เราก็เลยชอบโครงสร้างแบบนี้ เราว่ามันไม่ง่ายที่จะเรียงร้อยซีนที่ไม่ได้เชื่อมโยงกันโดยตรงแบบนี้เข้าด้วยกัน
ส่วนภาคสองกับภาคสามนั้น เราจะได้เห็นคนในครอบครัวนี้คุยกันมากยิ่งขึ้น
และเรื่องจะเป็นเส้นตรงมากขึ้น
--ชอบฉากการเลือกตั้งในหนังเรื่องนี้มากๆ
ดูการเลือกตั้งในประเทศอื่นแล้วก็สะเทือนใจเมื่อนึกถึงตัวเราเอง
--เราว่าหนังหลายๆเรื่องของ Helmrich มีจุดเด่นที่การใส่ฉากฝันหรือฉากกึ่งจริงกึ่งฝันเข้าไป
ซึ่งมันช่วยทำให้หนังไม่ติดอยู่ในกรอบของความเป็นสารคดี ส่วนในหนังเรื่องนี้มันจะมีฉากที่ถ่ายแสงที่ลอดรูตรงกำแพงเข้ามาขณะที่
Rumidjah ทำอาหาร คือการถ่ายแสงอาทิตย์ในฉากนี้มันดูกึ่งจริงกึ่งฝันมากๆ
และฉากที่มีกลุ่มคนสวดภาวนากันหลังจากเด็กหญิงปวดท้อง ก็ดูเป็นฉากกึ่งจริงกึ่งฝันมากๆ
--เหมือนกับว่าในแต่ละภาคจะมีฉากไคลแมกซ์ของตัวเอง สำหรับเราแล้ว
ฉากไคลแมกซ์ของภาคแรกคือฉากงูเห่า, ฉากไคลแมกซ์ของภาคสองคือฉากเดินข้ามสะพาน
ส่วนฉากไคลแมกซ์ของภาคสามคือฉากที่ภรรยาแก้แค้นสามีด้วยการฆ่าปลาของสามี สิ่งที่น่าสนใจก็คือฉากไคลแมกซ์ของภาคแรกและภาคสองเป็นฉากที่ไม่เกี่ยวกับเส้นเรื่องโดยตรง
คือเราสามารถตัดสองฉากนี้ออกไปจากหนังได้ โดยที่เส้นเรื่องสามารถดำเนินไปได้ต่อไป
--หนังสารคดีชุดนี้ทำให้นึกถึงหนังสารคดีเรื่อง LOVE
AND DIANE (2002, Jennifer Dworkin, 155min, A+30) ที่เป็นการตามติดชีวิตบัดซบของครอบครัวครอบครัวหนึ่งเหมือนกัน
โดยในกรณีของ LOVE AND DIANE นั้นเป็นการตามติดชีวิตแม่กับลูกสาวผิวดำคู่หนึ่ง
ที่ตัวแม่เป็นคนติดยาเสพติด
อย่างไรก็ดี
ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างหนังไตรภาคสารคดีอินโดนีเซียกับ LOVE AND DIANE ก็คือว่า
Helmrich ดูเหมือนจะอยู่ใกล้ชิดกับครอบครัว Rumidjah มากพอสมควร
เขาก็เลยสามารถเก็บฟุตเตจเหตุการณ์สำคัญของครอบครัวนี้ได้ ทั้งตอนที่เจองูเห่า,
เกิดไฟไหม้, เจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์มาตรวจเยี่ยม, เจ้าหนี้มาทวงหนี้,
ผัวเมียทะเลาะกัน, ลุงหลานทะเลาะกัน คนดูก็เลยได้เห็นดราม่าของจริงต่อหน้าจอ
แต่ในส่วนของ LOVE AND DIANE นั้น โชคร้ายที่ผู้กำกับ
LOVE AND DIANE ไม่ได้อยู่ถ่ายทำครอบครัวของ subjects ตอนที่ครอบครัวนี้มีเรื่องดราม่าทะเลาะตบตีกันอย่างรุนแรง
ผู้กำกับก็เลยต้องให้คนในครอบครัวนี้เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปแล้วให้ฟัง
ส่วนคนดูก็ต้องฟังแล้วจินตนาการภาพการตบตีกันด้วยตัวเอง
--ไม่รู้ว่าในประเทศอื่นๆมีหนังสารคดีแบบตามติดชีวิต subjects หลายปีแบบนี้บ้างไหม
เท่าที่รู้ว่ามีก็คือ
1.ในอังกฤษมีหนังชุด 7 UP ของ Michael Apted ที่ตามติดชีวิตชาวอังกฤษกลุ่มหนึ่งตั้งแต่ 7 ขวบจนถึง 56 ปี หรือตั้งแต่ปี
1964-2012
2.ในเยอรมนีมีหนังชุด WITTSTOCK ของ
Volker Koepp ที่ตามติดชีวิตสามสาวในเยอรมันตะวันออกตั้งแต่ปี
1975-1997 เราเคยดูภาคสุดท้ายที่ชื่อว่า WITTSTOCK, WITTSTOCK (1997, A+30)
แล้วชอบมาก
3.ในอเมริกามี Jonas Mekas ที่ทำหนังเกี่ยวกับชีวิตตัวเองเป็นประจำในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา
อย่างเช่นเรื่อง AS I WAS MOVING AHEAD OCCASIONALLY I SAW BRIEF GLIMPSES
OF BEAUTY (2000, A+30) ที่เป็นการนำ home movies ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมามารวมเข้าด้วยกัน
4.ในญี่ปุ่นมีหนังสารคดีเกี่ยวกับชาวไร่ชาวนาที่ต่อสู้กับสนามบินนาริตะ
เราจะได้เห็นชีวิตของพวกเขาตั้งแต่ SUMMER IN NARITA (1968, Shinsuke Ogawa) กับในหนังสารคดีอีก 3 เรื่องในทศวรรษ 1970 แล้วก็ได้เห็นชีวิตพวกเขาอีกทีใน
THE WAGES OF RESISTANCE: NARITA STORIES (2014, Otsu Koshiro + Daishima
Haruhiko) เท่ากับว่าเราได้เห็นชีวิตพวกเขานานกว่า 45 ปี
ไม่รู้ในประเทศอื่นๆมีหนังสารคดีชุดแบบนี้บ้างหรือเปล่า
No comments:
Post a Comment