Monday, April 06, 2015

THE BRASS RING (1973, Prince Anusorn Mongkolgarn, A+30)


THE BRASS RING (1973, Prince Anusorn Mongkolgarn, A+30)
แหวนทองเหลือง

--ถ่ายทำได้อย่างงดงามมากๆ เราชอบสีสันต่างๆในหนังเรื่องนี้มาก มันทำให้นึกถึงหนังฝรั่งบางเรื่องในทศวรรษ 1950-1960 ที่มันจะมีสีที่สวยมากๆๆๆ แต่มันเป็นสีที่ไม่ปรากฏในหนังยุคปัจจุบันอีกแล้ว ซึ่งเราไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะแฟชั่นที่เปลี่ยนไป, หรือน้ำยาล้างฟิล์มที่เปลี่ยนไป หรือเป็นเพราะอะไรกันแน่ คือพอทศวรรษ 1980 เราก็ไม่เห็นสีสันสวยๆแบบนี้ทั้งในหนังฝรั่งและหนังไทยแล้วน่ะ

สีสันสวยๆใน “แหวนทองเหลือง” ทำให้เรานึกถึงสีสันแบบใน GATE OF HELL (1953, Teinosuke Kinugasa), UNE VIE (1958, Alexandre Astruc) และ JULIET OF THE SPIRITS (1965, Federico Fellini) น่ะ อยากให้มีคนวิเคราะห์เหมือนกันว่าสีต่างๆที่ปรากฏในหนังเหล่านี้ มันหายไปไหนในยุคต่อๆมา

--ยอมรับว่าสามารถนั่งดูไปได้ด้วยความเพลิดเพลิน ทั้งๆที่เราไม่อินกับอีนางเอกอย่างรุนแรง คือถ้าพูดกันตามจริง อีนางเอกในหนังเรื่องนี้นี่มันน่ารำคาญมากๆเลยนะ แต่ไม่ใช่ว่าหนังไม่ดีหรือบทประพันธ์ไม่ดีนะ คือมันก็คงมีคนแบบนี้จริงๆน่ะแหละ แต่เราจะรำคาญคนแบบนี้ เพราะมันอาจจะเป็นคนที่มี “ธาตุ” ตรงข้ามกับเราน่ะ

ถ้าเปรียบเทียบง่ายๆก็คือว่า เราจะอินกับหนังเรื่องนี้อย่างรุนแรง ถ้านางเอกเดินเป็นระยะทาง 200 กิโลเมตร เพื่อไปฆ่าศัตรูที่เธอเกลียดน่ะ แทนที่จะเดินไปหาผัวแบบโง่ๆอย่างนี้ คือเราจะอินกับตัวละครที่มีเพลิงโทสะหรือถูกพยาปาทะเข้าครอบงำจิตใจมากกว่าตัวละครแบบนางเอกหนังเรื่องนี้น่ะ แล้วนางเอกหนังเรื่องนี้ก็ดูเหมือนจะมีแต่ความรัก แต่ไม่มีความเงี่ยนเลยนะ เราก็เลยยิ่งไม่อินกับอีนี่เข้าไปใหญ่

--ชอบความสัมพันธ์ระหว่างนางเอกกับสมุนสาวคู่ใจมากๆ คือถ้าผลักความสัมพันธ์นี้ให้มันไปสุดทางกว่านี้ มันจะต้องเป็นเลสเบียนกันแน่ๆ

--อยู่ดีๆก็นึกถึงแนวคิดที่เราได้จากหนังเรื่อง JAUJA (2014, Lisandro Alonso, A+30) โดยที่หนังเรื่อง JAUJA ไม่ได้ตั้งใจ คือหนังเรื่อง JAUJA นำเสนอตัวละครที่ขาดอะไรบางอย่าง แล้วก็พยายามแสวงหาสิ่งที่ขาดนั้นเกือบตลอดทั้งเรื่อง (พระเอกออกตามหาลูกสาวที่หายสาบสูญไป แล้วก็เลยต้องเดิน เดิน เดิน เดินผ่านภูมิประเทศต่างๆไปเรื่อยๆเป็นเวลาประมาณกว่าชั่วโมง) กับตัวละครที่ดูเหมือนไม่ขาดอะไร มีทรัพย์สมบัติทุกอย่างพร้อมแล้วในชีวิตนี้ ตัวละครตัวนั้นก็เลยไม่ต้องทำอะไร นอกจากเดินเล่นนิดๆหน่อยๆ

ที่เรานึกถึง JAUJA ก็เพราะว่า คืออีนางเอกในแหวนทองเหลืองนี่ ในช่วงครึ่งหลัง ตอนที่มันเจอกับพระเอกแล้ว แต่ไม่บอกความจริงกับพระเอก มันเหมือนกับว่าจริงๆแล้วตัวละครนางเอกมัน “ไม่ขาด” แล้วน่ะ มันได้ทุกอย่างเกือบพร้อมสมบูรณ์ในชีวิตแล้ว แต่ถ้าหากตัวละครมัน “ไม่ขาดหายอะไรบางอย่างไปจากชีวิต” เรื่องมันก็ต้องจบ, นิยายมันก็ต้องจบ, หนังมันก็ต้องจบ เพราะฉะนั้นถ้าหากไม่อยากให้หนังจบ นางเอกก็เลยต้องอยู่ในสภาวะ “ขาด” ต่อไป เธอก็เลยต้องสร้างความทุกข์ให้ตัวเองด้วยการตัดสินใจไม่บอกความจริงกับพระเอก

คือมันตลกดีสำหรับเราน่ะ คือ JAUJA มันทำให้เรามองหนังหลายๆเรื่องอย่างขำๆในแง่ที่ว่า หนังหลายๆเรื่องมันต้องหาวิธีทำให้ตัวละครอยู่ในภาวะ “ขาด” ต่อไปน่ะ ซึ่งบางเรื่องมันก็โบยตีตัวละครได้อย่างสนุกดี ด้วยการทำให้ตัวละครถูกกระทำโดยโชคชะตา แบบ “แหวนทองเหลือง” ช่วงครึ่งแรก

แต่ “แหวนทองเหลือง” ช่วงครึ่งหลัง ตัวละครไม่ได้ถูกโบยตีด้วยโชคชะตา แต่ตัวละครโบยตีตัวเองแทน ทั้งๆที่ไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้นแต่อย่างใด ในแง่นึงมันก็เลยทำให้เราขำในแง่ที่ว่า มึงจะใช้วิธีนี้เพื่อให้เนื้อเรื่องดำเนินต่อไปได้ใช่มั้ย เพราะถ้ามึงไม่สร้างความทุกข์ให้ตัวเอง เรื่องก็คงจบไปแล้ว

--แต่เราก็ไม่ได้มองว่ามันเป็นข้อบกพร่องร้ายแรงอะไรนะ เพราะมันมีคนแบบนี้จริงๆน่ะแหละ และจริงๆแล้วเราก็มักจะอินกับตัวละครที่ทำอะไรขัดกับหลักเหตุผลอยู่แล้วด้วย (แต่ไม่รวมอีนางเอกแหวนทองเหลืองนะ)

แต่การที่เราไม่อินกับตัวละครนางเอกหนังเรื่องนี้อย่างรุนแรง เพราะฉะนั้นเวลาที่เราดู เราก็เลยเหมือนต้องปรับโหมดในการดูอยู่บ้างน่ะ คือถ้าเป็นหนังยุคปัจจุบัน เราก็จะดูแบบอินไปกับตัวละครหรืออะไรทำนองนี้ แต่ถ้าเป็นหนังอย่าง “แหวนทองเหลือง” เราก็จะเอาอารมณ์ความรู้สึกไปผูกพันกับความเป็นcinematic, ความสวยงามด้านภาพ หรือไปสนใจกับลักษณะของ genre ที่กึ่งๆอีพิคกึ่งๆเมโลดรามา ซึ่งเป็นลักษณะที่หาได้ยากแล้วในยุคปัจจุบันแทน แต่จะไม่ดูแบบเอาอารมณ์ไปผูกกับตัวละครมากนัก เพราะยิ่งผูกก็จะยิ่งรู้สึกรำคาญอีตัวละคร

--ชอบ “จดหมายที่ส่งไม่ถึงมือผู้รับ” ในหนังเรื่องนี้ เพราะเรามักจะสะเทือนใจกับอะไรทำนองนี้น่ะ และมันทำให้นึกถึง TESS OF THE D’UBERVILLES และ A WINTER’S TALE (Eric Rohmer) ด้วย เพราะสองเรื่องนี้ก็มีจดหมายที่ส่งไม่ถึงมือผู้รับเหมือนกัน และการที่มันส่งไม่ถึงมือผู้รับ ก็สร้างความชิบหายวายป่วงในชีวิตนางเอกอย่างรุนแรงสุดๆเหมือนกัน

จริงๆแล้วนางเอก “แหวนทองเหลือง” กับ A WINTER’S TALE สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ในเรื่องความรักเดียวใจเดียวเหมือนกันนะ แต่เราอินกับความรักใน A WINTER’S TALE มากกว่าเยอะ เราคิดว่ามันน่าทึ่งมากๆที่นางเอก A WINTER’S TALE ปฏิเสธผู้ชายดีๆหลายคนที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เพราะเธอยึดมั่นอยู่กับผู้ชายที่เธอเคยเจอเพียงไม่กี่วันเมื่อหลายปีก่อน

คือ A WINTER’S TALE ของ Rohmer ทำให้เรา “อินกับความรัก” ของนางเอกอย่างรุนแรงน่ะ ในขณะที่ “แหวนทองเหลือง” ทำให้เรารู้สึกขำกับการเดินวิบากของนางเอก แทนที่จะรู้สึกอินไปกับมัน

สรุปง่ายๆก็คือว่า เราชอบ “หัวใจ” ของ A WINTER’S TALE น่ะ แต่เราชอบ “เปลือก” ของแหวนทองเหลือง คือเปลือกในที่นี้หมายถึงความงดงามด้านภาพและการถ่ายทำที่ประณีตงดงามมากๆน่ะ ในขณะที่หัวใจของตัวละครในหนังเรื่องนี้เป็นสิ่งที่เราเฉยๆ



No comments: