Sunday, January 03, 2016

THE LOBSTER (2015, Yorgos Lanthimos, A+30)

THE LOBSTER (2015, Yorgos Lanthimos, A+30)

ดูไปตั้งแต่วันที่ 26 พ.ย. แต่ไม่มีเวลาเขียนถึงเลย ตอนนี้ลืมรายละเอียดในเรื่องไปเกือบหมดแล้ว เพราะฉะนั้นเราจะจดบันทึกแต่ความรู้สึกเท่าที่จำได้นิดๆหน่อยๆก็แล้วกัน

1.THE LOBSTER ถือเป็นหนังต่างประเทศที่เราชอบมากเป็นอันดับที่ 33 ของปี 2015 สาเหตุนึงที่ชอบมากๆเพราะมันให้ข้อคิดดีๆกับเราเป็นการส่วนตัวน่ะ นั่นก็คือมันทำให้เราคิดทบทวนว่า บางทีที่เรารู้สึก “เหงา” หรือ “อยากมีผัว” หรือ “อยากมีเมียเป็นหนุ่มหล่อ” หรืออะไรทำนองนี้ มันเป็นสิ่งที่จิตใจและร่างกายของเราต้องการจริงๆ หรือว่ามันเป็นผลจากมายาคติที่สังคมหลอกให้เรารู้สึกแบบนั้น

คือในหนังเรื่องนี้เราจะเห็นว่า บางทีคนเราก็ต้องการใครสักคนจริงๆน่ะ อย่างเช่นการที่พระเอกทายาที่หลังตัวเองไม่ได้ มันต้องมีใครสักคนมาทายาที่หลังให้ มันทำให้เรานึกถึงตอนที่ตัวเองซื้อของใหญ่ๆมาจากห้างสรรพสินค้า แล้วต้องแบกเข้าอพาร์ทเมนท์ของตัวเองอย่างทุลักทุเล หรือเวลาที่เราป่วยเข้าโรงพยาบาล คือในเวลาแบบนั้นความรู้สึกอยากมีผัวมันก็จะพลุ่งพล่านขึ้นมา หรือจริงๆไม่ต้องมีผัวก็ได้ แค่มีเพื่อนสนิทสักคนสองคนมาช่วยเหลือกันก็พอแล้ว

แต่บางทีความรู้สึกเหงามันก็ไม่ใช่สิ่งที่เกิดจากตัวเราจริงๆ มันเกิดจากเราถูกสังคมหลอกโดยไม่รู้ตัว ซึ่งหนังเรื่องนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งแรกของเรื่อง ที่มีการสั่งสอนคนต่างๆนานาว่าการอยู่เป็นโสดเลวร้ายเพียงใด และมันก็ทำให้เรานึกถึงตัวเราเองด้วย ยกตัวอย่างง่ายๆก็เช่น ก่อนที่เราจะเริ่มเล่นเฟซบุ๊คในปี 2008-2009 นี่ วันลอยกระทง+วันวาเลนไทน์ไม่เคยมีความสำคัญอะไรกับเราเลย เพราะไม่มีใครใกล้ตัวเราที่แสดงออกในเชิงที่ว่า เราต้องทำกิจกรรมกับคู่รักในวันดังกล่าว แต่พอเราเริ่มเล่นเฟซบุ๊ค เราก็เริ่มรู้สึกเหงา เมื่อเห็นคำพูดในทำนองที่ว่า ได้ไปลอยกระทงกับคู่รัก อะไรทำนองนี้ แล้วเราก็มาคิดทบทวนว่า เอ๊ะ ทำไมตอนกูอายุ 1-35 ปี กูไม่เคยรู้สึกเหงาในวันลอยกระทง แล้วทำไมกูถึงเพิ่งมาเริ่มรู้สึกเหงาในวันลอยกระทงในช่วง 2-3 ปีมานี้ เพราะฉะนั้นไอ้ความรู้สึกเหงานี่ มันไม่ใช่ความรู้สึกเหงาหรือต้องการใครสักคนอย่างแท้จริงเหมือนกับตอนป่วยเข้าโรงพยาบาล แต่มันเป็นความรู้สึกที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมา มันไม่ใช่ความรู้สึกเหงาจริงๆ เพราะถ้าเรารู้สึกเหงาจริงๆ เราก็ต้องรู้สึกแบบนี้มานานแล้วสิ ไม่ใช่เพิ่งมารู้สึก 2-3 ปีหลัง เพราะฉะนั้นต้นเหตุที่แท้จริง มันคือการที่เราเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นๆในเฟซบุ๊คต่างหาก มันคือผลจากการถูกกรอกหูด้วยผู้คนในสังคม มันไม่ใช่ความจริงแต่อย่างใด

จุดนี้ใน THE LOBSTER ยังทำให้เรานึกถึงเพื่อนเราบางคนที่แต่งงานไปแล้วแต่ไม่ยอมมีลูกด้วยนะ เขามาเล่าให้เราฟังว่า อีญาติๆก็ชอบมาถามเหลือเกินว่า เมื่อไหร่จะมีลูก หรือเพื่อนๆเราหลายคนที่เป็นเกย์ ก็มักจะมีญาติๆมาถามว่า เมื่อไหร่จะแต่งงาน มันเหมือนกับสังคมพยายามบีบบังคับให้เราเข้าไปอยู่ในกรอบที่สังคมวางไว้ ซึ่งก็คือการแต่งงาน และมีลูก โดยไม่ได้คำนึงถึงความจริงที่ว่า คนทุกคนแตกต่างกัน และความสุขของคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน

แต่เราไม่มีปัญหาแบบข้างต้นนะ เพราะเราไม่สนิทกับครอบครัว เราแทบไม่เคยเจอญาติของเราเลย ก็เลยไม่มีปัญหาอะไรแบบนี้

2.จุดนี้ของ THE LOBSTER ที่ทำให้เราตระหนักว่าบางทีความรู้สึกเหงาของเรา มันไม่ใช่ความจริง มันเป็นสิ่งที่ถูกสังคมหลอกให้เรารู้สึก มันทำให้เรานึกถึงหนังของ Luis Buñuel ด้วยนะ ซึ่งก็คือเรื่อง THE PHANTOM OF LIBERTY (1974) เพราะหนังเรื่องนั้นก็ทำให้เราตระหนักว่าหลายสิ่งหลายอย่างที่เราเชื่อว่ามันเป็นความจริง จริงๆแล้วมันไม่ใช่ความจริง อย่างเช่นฉากที่ตัวละครดูรูปตึกสูงๆ แล้วบอกว่ามันเป็นภาพที่หยาบโลนมาก หรือฉากที่ตัวละครนั่งอึกันเป็นกลุ่มๆ แล้วนั่งกินข้าวในที่ลับหูลับตาคน คือสองฉากนี้ใน THE PHANTOM OF LIBERTY มันทำให้เราตระหนักว่า “ความหยาบโลน” มันเป็นสิ่งที่ถูกสังคมกำหนดขึ้นมาว่า สิ่งนี้หยาบโลน สิ่งนั้นไม่หยาบโลน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งนั้นมันก็เป็นสิ่งนั้นเฉยๆ สังคมแต่ละสังคมต่างหากที่ไปแปะป้ายให้กับมันว่าหยาบโลนหรือไม่หยาบโลน

เพราะฉะนั้น THE LOBSTER ก็เลยโดนเรามากในแง่นี้ เพราะมันทำให้เราตระหนักว่า หลายๆครั้งเราเหงาทั้งๆที่เราไม่ควรจะเหงาแต่อย่างใด มันเป็นความรู้สึกเหงาหลอกๆ มันไม่ใช่ความรู้สึกเหงาจริงๆ

3.แต่เราก็ชอบมากที่ THE LOBSTER พาเราไปไกลกว่าประเด็นข้างต้นนะ เพราะ THE LOBSTER เล่าถึงกลุ่มคนในป่าที่ตั้งกฎเกณฑ์ในทางตรงกันข้ามด้วย ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ที่ไร้สาระพอกัน และไม่เปิดโอกาสให้มนุษย์ได้ทำตามที่ใจตัวเองปรารถนาเหมือนกัน

การที่ THE LOBSTER นำเสนอเรื่องกลุ่มคนในป่าด้วย ทำให้เราชอบหนังเรื่องนี้มากกว่า DOGTOOTH (2009, Yorgos Lanthimos, Greece) นะ เพราะเรารู้สึกว่า DOGTOOTH เหมือนมีประเด็นเดียว แต่ THE LOBSTER มีประเด็นเยอะกว่า และเรารู้สึกถึงความเป็นมนุษย์ของตัวละครได้มากกว่า

เรารู้สึกว่า THE LOBSTER มันค่อนข้างสอดคล้องกับความเชื่อส่วนตัวของเราด้วยที่ว่า จริงๆแล้วมันไม่มีกฎเกณฑ์อะไรตายตัวหรอก ว่าแบบไหนดีกว่ากัน มันขึ้นอยู่กับแต่ละคนน่ะ ใครอยากอยู่เป็นโสดก็ทำไป, ใครอยากผัวเดียวเมียเดียวก็ทำไป ใครอยากมีผัว 30 คนก็ทำไป ใครอยากเซ็กส์หมู่ก็ทำไป สิ่งที่สำคัญสำหรับเราก็คือว่า อย่าเอาสิ่งที่เหมาะกับเราไปอุปโลกน์ว่ามันต้องเหมาะกับคนอื่นๆด้วยเท่านั้นเอง มึงชอบใช้ชีวิตแบบไหนก็เรื่องของมึง แต่อย่ามาบอกให้กูต้องใช้ชีวิตในแบบที่มึงชอบด้วย

4.มีรายละเอียดปลีกย่อยที่เยอะมากและดีมากในหนังเรื่องนี้ แต่เราลืมไปหมดแล้ว จริงๆก็คือชอบตัวประกอบต่างๆในหนังเรื่องนี้มากทุกตัวเลย อย่างตัว Heartless Woman ก็คลาสสิคมาก, ตัว Biscuit Woman นี่นึกว่าหลุดออกมาจากหนังของ Mike Leigh + Ken Loach และชอบตัวเพื่อนของ Nosebleed woman ด้วยที่ตบหน้าเพื่อนเธออย่างจัง และพอเธอกลายเป็นม้า เธอก็เป็นม้าที่สวยมาก

5.ชอบการสื่อสารด้วยท่าทางของพระเอกกับนางเอกด้วย มันทำให้เรานึกถึงเรากับกลุ่มเพื่อนๆ ที่พอสนิทกัน มันจะมีการพัฒนาภาษาบางอย่างหรือคำศัพท์ใหม่ๆขึ้นมาเพื่อใช้สื่อสารระหว่างกันเอง

6.ฉากเต้นรำด้วยดนตรีเทคโนก็คลาสสิคมากๆ

7.มีเพื่อนคนนึงถามเราว่า การกลายเป็นสัตว์ในเรื่องนี้หมายถึงอะไร เราก็เลยตอบไปว่า

“ผมก็ไม่รู้เหมือนกันครับว่าผู้กำกับเขาจงใจให้มันหมายถึงอะไร 555
แต่ถ้าถามว่ามันทำให้ผมนึกถึงอะไรบ้าง ผมก็อาจจะนึกถึงสิ่งต่อไปนี้ครับ

7.1 การกลายเป็นพลเมืองชั้นสองของสังคมจารีตแบบนั้น

7.2 การกลายเป็น สมาชิกครอบครัวชั้นสองอย่างเช่นหลายๆครอบครัวที่ถือว่าสัตว์เลี้ยงเป็นเหมือนสมาชิกหนึ่งในครอบครัว แต่เป็นสมาชิกชั้นสอง อย่างเช่น ครอบครัวนึงอาจจะมีพ่อแม่ลูกเป็นสมาชิกครอบครัวชั้นหนึ่ง แล้วในบ้านหลังนั้นอาจจะมี คุณป้าสาวแก่กับ หมาอยู่ในบ้านด้วย ซึ่งคุณป้าสาวแก่กับหมาอาจจะถือเป็นสมาชิกครอบครัวชั้นสองของครอบครัวนั้น

7.3 การต้องอยู่กับสัตว์เลี้ยง แทนที่จะต้องอยู่กับคู่สมรสและลูกๆ คือคนโสดบางคนอาจจะคลายเหงาด้วยการเลี้ยงม้า เลี้ยงหมา เลี้ยงนกอะไรไป และพอคนโสดคนนั้นอยู่กับหมา มันก็อาจจะแทนด้วยการกลายเป็นหมาในหนังเรื่องนี้ อะไรทำนองนี้

8.เพื่อนถามเราเรื่อง “ฉากเปิด” ของ THE LOBSTER ด้วย เราก็เลยตอบไปว่า

“8.1 ฉากเปิดของ THE LOBSTER อาจจะเป็นสิ่งที่ผู้กำกับจงใจให้ตีความไม่ได้ มันอาจจะเป็นสิ่งที่เขาใส่เข้ามาตามสัญชาตญาณ ใส่เข้ามาเพราะเขาอยากใส่มันเข้ามาโดยไม่มีเหตุผล หรือเขาใส่มันเข้ามาโดยมีเหตุผลของเขาเอง แต่จงใจไม่บอกให้เรารู้

8.2 โดยส่วนใหญ่แล้วผมไม่ถนัดตีความหาเจตนาของผู้กำกับครับ 555 เพราะฉะนั้นถ้าหากถามว่าฉากเปิดทำให้ผมรู้สึกอย่างไร ผมก็ตอบได้ว่าชอบฉากเปิดนี้มากครับ ถึงแม้จะไม่เข้าใจมันก็ตาม

8.3 แล้วฉากเปิดมันทำให้ผมนึกถึงอะไรต่อไปอีกบ้าง ผมก็จินตนาการว่ามันอาจจะเป็นการแก้แค้นก็ได้ครับ ผู้หญิงคนนั้นอาจจะเคยแค้นคนๆนึง แล้วต่อมาคนคนนั้นก็กลายเป็นวัว เธอก็เลยตามไปแก้แค้น
สาเหตุที่ทำให้นึกถึงเรื่องนี้เป็นเพราะฉากที่ตัวละครขาเป๋เล่าว่าแม่ของเขากลายเป็นหมาป่าหรืออะไรทำนองนี้น่ะครับ แล้วเขาก็ต้องใช้เวลาสักระยะนึงในการตามหาว่าแม่ไปอยู่ที่ไหน แล้วพอรู้ว่าแม่อยู่ในสวนสัตว์ เขาก็ต้องใช้กลวิธีในการแยกแยะให้ได้ว่าหมาป่าตัวไหนคือแม่ของเขาอีก คือเรื่องเล่านี้มันแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์ในแบบที่พิสดารน่ะครับ ซึ่งน่าจะนำมาใช้อธิบายฉากเปิดได้ในแง่นึง เพียงแต่ว่าความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงคนนั้นกับวัวตัวนั้นคงจะตรงข้ามกับความสัมพันธ์ของตัวละครขาเป๋กับหมาป่า”

9.ดู THE LOBSTER แล้วทำให้เรานึกย้อนกลับไปถึงประเด็นที่เราเคยเขียนไว้เมื่อ 10 ปีก่อนด้วยนะ ที่ว่าหนังของ Jun Ichikawa, Tsai Ming-liang กับ Wong Kar-wai มันเหงาๆเหมือนกัน หรือมันมีตัวละครที่ดูโดดเดี่ยวเหมือนกัน แต่เรารู้สึกว่าหนังของ Jun Ichikawa มันเข้าทางเรามากที่สุด เพราะมันมักแสดงให้เห็นถึงตัวละครที่มีความสุขขณะอยู่คนเดียว โดยไม่จำเป็นต้องมีผัว, ครอบครัว, เพื่อน คืออยู่คนเดียวก็มีความสุขแล้ว  ในขณะที่ตัวละครในหนังของ Wong กับ Tsai (ยุคแรก) ตัวละครมักจะไม่มีความสุขขณะอยู่คนเดียว เพราะเขาต้องการคู่รักมาอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นหนังของ Wong กับ Tsai ก็เลยไม่เข้าทางเรามากเท่าหนังของ Jun Ichikawa แต่มันก็ยังดีกว่าหนังประเภทที่แสดงให้เห็นถึง “ความสำคัญของครอบครัว” อะไรทำนองนี้ คือเราว่าไอ้หนังประเภทที่แสดงให้เห็นถึงความรักในสถาบันครอบครัวหรือสถาบันห่าเหวอะไรต่างๆนี่ ในแง่นึงมันก็เหมือนกับ “กลุ่มผู้จัดการโรงแรม” ใน THE LOBSTER น่ะ ที่พยายามยัดเยียดมายาคติต่างๆให้กับผู้คนในสังคม


สรุปว่า ดู THE LOBSTER แล้วทำให้เราตระหนักว่า เมื่อใดก็ตามที่เรารู้สึกเงี่ยน มันเป็นความจริง แต่เมื่อใดก็ตามที่เรารู้สึกเหงา บางทีมันอาจจะไม่ใช่ความรู้สึกจริงๆของเรา เพราะในบางครั้งมันเป็นสิ่งที่เราถูกสังคมหลอกมา

No comments: