Wednesday, January 27, 2016

FOSSILS (2016, Ninart Boonpothong, stage play, A+20)

FOSSILS (2016, Ninart Boonpothong, stage play, A+20)
เด็กซิ่ว

1.ดูแล้วนึกถึงหนังของ Robert Altman มากๆ และเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องดี เพราะเรามองว่ามีหนังไทยหรือละครเวทีไทยเพียงแค่ไม่กี่เรื่องที่ทำออกมาในแนว Robert Altman ทั้งๆที่มันถือเป็นแนวหนังที่น่าสนใจมากๆ เพราะฉะนั้นก็เลยเป็นเรื่องที่น่าดีใจมากที่มีละครเวทีแนวนี้ออกมา

คำว่าหนังแนว Robert Altman ในที่นี้เราหมายถึงหนังที่เจาะไปที่ประเด็นใดประเด็นหนึ่ง แล้วนำเสนอประเด็นนั้นออกมาผ่านทางตัวละครจำนวนมากและเส้นเรื่องหลายๆเส้นน่ะ ซึ่ง FOSSILS ก็ทำแบบนี้ เพราะ FOSSILS มีตัวละครจำนวนมาก และก็มีเส้นเรื่องหลายเส้นเล่าตัดสลับกันไปมา โดยเส้นเรื่องเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกันในแบบหลวมๆ และก็มีการตัดสลับฉากเป็นระยะๆด้วยการให้นักแสดงออกมาพูดประโยคสั้นๆเกี่ยวกับประเด็นของละครด้วย

2.จริงๆแล้วเราชอบละครเรื่องนี้มากๆเลยนะ แต่อาจจะไม่ได้ชอบแบบสุดขีดในตอนนี้ เพราะในขณะที่ละครเรื่องนี้มีข้อดีเหมือนหนังของ Robert Altman นั่นก็คือการนำเสนอประเด็นใดประเด็นหนึ่งได้อย่างกว้างขวางครอบคลุม ละครเรื่องนี้ก็มีข้อด้อยเหมือนหนังของ Robert Altman เช่นกัน นั่นก็คือพอมันเล่าเส้นเรื่องหลายเส้นและตัวละครหลายตัวภายในเวลาอันจำกัด มันก็เลยไม่สามารถพัฒนาเส้นอารมณ์ใดเส้นอารมณ์หนึ่งให้ค่อยๆทวีความเข้มข้น เคร่งเครียดขึ้นเรื่อยๆจนถึงจุดที่นำไปสู่ climax อย่างรุนแรง และเกิดอารมณ์ซาบซึ้งสะเทือนใจอย่างรุนแรงขึ้นมาได้ คืออารมณ์มันกระจัดกระจายเกินไปน่ะ คือเส้นเรื่องแต่ละเส้นในละครเรื่องนี้ ถ้าหากมันอยู่เดี่ยวๆและเล่าแบบต่อเนื่อง มันอาจจะสร้างอารมณ์ climax แบบสุดขีดขึ้นมาได้ แต่พอมันถูกเล่าแบบตัดสลับกันไปมากับเส้นเรื่องอื่นๆ อารมณ์มันเลยสะดุดเป็นระยะๆ และเราจะไม่เกิดอารมณ์ต่อเนื่องกับตัวละครตัวนั้น อารมณ์ของเส้นเรื่องแต่ละเส้นมันเลยไม่ถูกบีบให้เกิดความ dramatic แบบสูงสุด

แต่อันนี้เป็น ข้อดี-ข้อด้อยของวิธีการแต่ละแบบนะ ไม่ใช่สิ่งที่ละครเรื่องนี้ควรปรับปรุงหรือแก้ไข คือยังไงคุณก็ต้องเลือกวิธีการใดวิธีการหนึ่งอยู่แล้วล่ะ และไม่มีวิธีการใดที่ ดีที่สุดเพราะแต่ละวิธีการมันก็มีข้อดีข้อด้อยของมันเอง คือถ้าคุณเลือกวิธีการแบบ Robert Altman คุณก็จะสามารถสะท้อนภาพกว้างๆของชีวิตมนุษย์ที่หลากหลายได้ แต่ถ้าคุณเลือกเล่าเส้นเรื่องเดียว คุณก็จะสามารถสร้างอารมณ์ dramatic เข้มข้นได้ แต่ไม่สามารถสะท้อนความหลากหลายของชีวิตมนุษย์ได้

แต่การที่ละครเวทีเรื่องนี้และหนังบางเรื่องของ Altman ไม่สามารถสร้างอารมณ์ dramatic เข้มข้นได้นั้น มันก็ไม่ใช่ข้อด้อยแบบ 100% นะ เพราะในแง่นึง การใช้วิธีการเล่าเรื่องแบบนี้ก็อาจจะช่วยหลีกเลี่ยงความเป็นเมโลดราม่าหรือการบีบคั้นอารมณ์จนเกินควรได้เหมือนกัน

เพราะฉะนั้นเราว่าการที่ละครเวทีเรื่องนี้เลือกใช้วิธีการแบบ Altman ก็เป็นสิ่งที่ดีแล้วล่ะ เพราะถึงแม้มันจะมีข้อด้อย แต่มันก็มีข้อดีของมันเอง และมันเป็นวิธีการที่เราไม่ค่อยเห็นหนัง+ละครเวทีไทยใช้กัน

3.เนื่องจากเราเป็นคนที่ชอบดูหนัง เพราะฉะนั้นเวลาที่เราดูละครเวทีของนินาท เราก็มักจะจินตนาการไปด้วยว่า ถ้าหากมีคนเอาละครเวทีเรื่องนั้นไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ เราอยากให้เขาดัดแปลงออกมาอย่างไรบ้าง

เราว่าถ้าหากมีการดัดแปลงละครเรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ เราอยากให้เขาตัดเนื้อหาบางส่วนทิ้งไปน่ะ และอาจจะเน้นไปที่สองเส้นเรื่องที่เราชอบที่สุด ซึ่งก็คือ

3.1 เส้นเรื่องของหญิงสาวที่มีความสัมพันธ์กับชายหนุ่มอารมณ์ร้อน (ฟลุ๊ค ธีรภัทร โลหนันทน์ เล่นได้ดีสุดๆกับบทนี้ เราจำเขาแทบไม่ได้เลย) เพราะเราอินกับเส้นเรื่องนี้มากที่สุด มันเป็นการตอบสนอง fantasy ของเราด้วยแหละ ในการสมมุติตัวเองเป็นตัวละครหญิงตัวนี้ (นักแสดงที่รับบทเป็นตัวละครหญิงตัวนี้ก็เล่นได้ดีมากๆ เราประทับใจกับการแสดงของคนนี้มากที่สุดเลยในฐานะนักแสดงหน้าใหม่)

นอกจากเส้นเรื่องนี้จะเป็นการตอบสนอง fantasy ของผู้ชมอย่างเราได้อย่างดีมากๆแล้ว ตัวเส้นเรื่องเองมันก็สามารถทำให้เป็นอะไรที่ dramatic เข้มข้นรุนแรงสุดๆได้นะ เพราะขณะที่ดู เราจะลุ้นมากๆไปกับความสัมพันธ์ของคนคู่นี้ และพอมันเกิดเรื่องรุนแรงขึ้น มันก็สะเทือนความรู้สึกของเรามากๆเหมือนกัน นอกจากนี้ ซับพล็อตเกี่ยวกับแม่, แฟนเลสเบียนของแม่ และแฟนเก่าของผู้หญิงคนนั้นก็ช่วยสร้างสีสันให้กับเรื่องได้ดีมากๆด้วย

3.2 เส้นเรื่องของพนักงาน HR หญิง (ขนิษฐา นงนุช) เราชอบตัวละครตัวนี้มากๆเลย ดูแล้วนึกถึงตัวละครที่ Catherine Keener เล่นใน FULL FRONTAL (2002, Steven Soderbergh) ที่เล่นเป็นพนักงาน HR ที่ต้องรับมือกับพนักงานคนอื่นๆในบริษัทและต้องรับมือกับปัญหาชีวิตส่วนตัวเหี้ยๆห่าๆของตัวเองไปด้วย

เราว่าบทพนักงาน HR นี่เป็นอะไรที่น่าสนใจมากๆ คือมันต้องเย็นชากับมนุษย์ที่น่าสงสารคนอื่นๆเมื่อคุณต้องปลดเขาออกจากงานน่ะ คือมันเป็นพนักงานที่ต้องดีลกับ ความจัญไรในชีวิตเพื่อนร่วมบริษัทโดยตรง ซึ่งมันต้องอาศัยคนที่มีความแข็งแกร่งทางอารมณ์และจิตใจมากๆในการทำงานแบบนี้ เราก็เลยชอบมากที่ละครเวทีเรื่องนี้สร้างตัวละครแบบนี้ขึ้นมา และสามารถสร้างฉากคลาสสิคจากชีวิตการทำงานของตัวละครแบบนี้ออกมาได้ ทั้งฉากที่ต้องดีลกับ พนักงานที่ไม่แคร์กับการโดนไล่ออก เพราะกูมีที่ไปอยู่แล้วและฉากที่ต้องดีลกับ พนักงานที่จิตแตกเป็นเสี่ยงๆเมื่อโดนไล่ออก
ส่วนเส้นเรื่องปัญหาส่วนตัวของพนักงาน HR นั้น เราก็ชอบมากๆเช่นกัน ทั้งความสัมพันธ์กับแฟนที่ดูเหมือนจะมาจากครอบครัวหัวโบราณ, ความสัมพันธ์กับหนุ่มตากล้องที่ดูกุ๊กกิ๊กคิกคาปู้มากๆ และความสัมพันธ์กับเด็กหนุ่มที่คอย stalk เธอ

คือเราว่าทั้งตัวละคร HR หญิง และตัวละครหญิงสาวกับชายหนุ่มอารมณ์ร้อนนี่ จริงๆแล้วสามารถพัฒนาเป็นหนังสองเรื่องแยกกันได้เลยนะ เพราะตัวละครทั้งสองตัวนี้มีเรื่องราวที่น่าสนใจมากในตัวเองอยู่แล้ว แต่ถ้ามันเป็นหนังจริงๆ เราก็อยากให้ทั้งสองตัวนี้อยู่ในหนังเรื่องเดียวกันมากกว่า

อย่างไรก็ดี เส้นเรื่องอื่นๆในละครเวทีเรื่องนี้สามารถ ลดระดับความสำคัญลงไปได้ ถ้าหากมีการนำไปสร้างเป็นหนังนะ อย่างเช่นเส้นเรื่องของชายหนุ่มที่ลาออกจากมหาลัยเพราะ แคร์เพื่อนตากล้องมากเกินไปเราว่าเส้นเรื่องนี้จริงๆแล้วมันน่าสนใจ แต่มันไม่พีคเท่าสองเส้นเรื่องแรกน่ะ

แต่ในอีกแง่นึง เราว่า ประโยค มึงเอาเวลาของกูคืนมาที่นิสิตหนุ่มพูดกับตา
กล้องนี่ จริงๆแล้วมันสามารถเป็นประโยคที่สะเทือนอารมณ์อย่างรุนแรงสุดๆได้เลยนะ แต่มันต้องอาศัยการเล่าเรื่องแบบใหม่น่ะ มันถึงจะทำให้ประโยคนี้กลายเป็นประโยค ซึ้งๆได้ คือประโยคนี้ในละครเวทีเรื่องนี้ มันเหมือนมาในแบบ หักมุมไง คือหลังจากเราเห็นนิสิตหนุ่มคนนี้ในหลายๆฉาก เราถึงมาสำเหนียกภายในเวลาเพียง 2-3 นาทีว่าจริงๆแล้วตัวละครนิสิตหนุ่มคนนี้เคยร้าวรานใจกับเพื่อนตากล้องมากขนาดไหน เพราะฉะนั้นถึงแม้ประโยคนี้มันมีศักยภาพที่จะทรงพลังมากๆ แต่เวลาเพียง 2-3 นาทีที่เราได้รับรู้อดีตที่แท้จริงของตัวละครนิสิตหนุ่มคนนี้ มันไม่มากพอที่จะทำให้เราเข้าถึงความเจ็บปวดที่แท้จริงในใจตัวละครได้น่ะ เพราะฉะนั้นประโยคนี้มันก็เลยทำให้เรารู้สึกก้ำกึ่งว่า มันทรงพลังก็จริง แต่จริงๆแล้วมันถูกใช้ในแบบที่สามารถขุดเอาพลังของประโยคนี้ออกมาได้ 100% เต็มหรือเปล่า

คือจริงๆแล้วตัวละครนิสิตหนุ่มคนนี้เป็นตัวละครที่มีศักยภาพที่จะทำให้เราซึ้งกับมันได้มากๆนะ เพียงแต่ว่ามันต้องเล่าใหม่โดยให้เราสำเหนียกได้ถึงความเจ็บปวดของตัวละครตัวนี้เป็นเวลานานพอสมควรน่ะ และพอทำเช่นนั้นแล้ว เมื่อถึงเวลาที่ตัวละครตัวนี้พูดประโยคที่ว่า มึงเอาเวลาของกูคืนมามันถึงจะสามารถทำให้เราร้องไห้ไปด้วยได้ (อันนี้ไม่ได้ต้องการจะบอกว่า นินาทใช้วิธีการเล่าที่ผิดพลาดกับตัวละครตัวนี้นะ เพียงแต่จะบอกว่า เราจินตนาการว่า ถ้าหากละครเวทีเรื่องนี้ถูกดัดแปลงเป็นหนัง ตัวละครตัวนี้สามารถกลายเป็นตัวละครที่ทำให้เราร้องห่มร้องไห้ไปกับมันได้ ถ้าหากชีวิตของมันถูกเล่าด้วยวิธีการอย่างไร)

ส่วนเส้นเรื่องที่เราว่าอาจจะตัดทิ้งไปได้ ก็คือเส้นเรื่องของ พ่อที่ลงเรียนมหาลัยเดียวกับลูกสาวน่ะ คือเราไม่รู้ว่ามันมาจากเรื่องจริงหรือเปล่านะ แต่ตอนที่เราดูละครเวทีเรื่องนี้ เรารู้สึกว่ามันเป็น เหตุการณ์ที่ดูไกลตัวเราไปหน่อยน่ะ มันเหมือนเป็นเหตุการณ์ที่มีโอกาสน้อยที่เราจะได้พบเจอในชีวิตจริง เราก็เลยชอบเส้นเรื่องนี้น้อยที่สุด

4.แต่ถึงแม้เราจะชอบเส้นเรื่อง พ่อที่ลงเรียนมหาลัยเดียวกับลูกสาวน้อยที่สุด แต่เราก็ว่าคุณขรรค์ชัยแสดงบทพ่อได้ดีมากนะ และรายละเอียดในแต่ละซีนมันก็ดีน่ะ โดยเฉพาะซีนที่อาจารย์มหาลัยต้องรับมือกับนักศึกษาแต่ละคนในห้องที่มีปัญหาไม่ซ้ำกัน, ซีนที่พ่อเล่าถึงเพื่อนที่เรียนหมอ ทั้งๆที่อยากเดินทางท่องเที่ยว และซีนที่พ่อเปิดเผยความจริงเกี่ยวกับธุรกิจของตนเอง คือเราว่าเรื่องราวของตัวละครตัวนี้และลูกสาวของตัวละครตัวนี้มันน่าสนใจมากๆในตัวมันเองอยู่แล้วแหละ โดยที่ตัวละครตัวนี้ไม่จำเป็นต้องไปลงเรียนมหาลัยเดียวกับลูกสาวก็ได้

5.อีกสิ่งที่เราจินตนาการเล่นๆเกี่ยวกับเวอร์ชั่นภาพยนตร์ของละครเวทีเรื่องนี้ก็คือว่า เราจะ ซึ้งกับตัวละครต่างๆได้อย่างรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะตัวละครหญิงสาวกับแม่เลสเบียน ถ้าหากมันมี moment ที่ตัวละครอยู่เฉยๆ ไม่ต้องพูดหรือทำอะไรน่ะ คือ moment แบบนี้มันมีอยู่ในภาพยนตร์ที่เราชอบมากๆหลายๆเรื่องนะ แต่ในสือประเภทละครเวทีนั้น เราสังเกตแล้วพบว่า มันอาศัยการให้ตัวละครพูดหรือทำอะไรตลอดเวลาเพื่อขับเคลื่อนเนื้อเรื่องให้เดินหน้าต่อไปโดยไม่หยุดยั้งน่ะ มันไม่มี moment ที่ให้ตัวละครหยุดพัก ผ่อนคลาย นั่งนิ่งๆอยู่ในห้องตามลำพังเพื่อครุ่นคิดถึงอะไรบางอย่าง ซึ่งเราจะชอบ moment แบบนี้มากๆในสื่อภาพยนตร์ แต่พอละครเวทีขาด moment แบบนี้ไป มันก็เลยเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกไม่พีคกับละครเวทีมากเท่าที่ควร คือพอหนังมันมี moment ที่ตัวละครหยุดนิ่ง เราจะรู้สึกเหมือนถูกดูดซึมเข้าไปในตัวละครตัวนั้นน่ะ แต่ถ้าหากตัวละครพูดหรือทำอะไรตลอดเวลา เราจะรู้สึกเหมือนกับว่าสมองของเราต้องคอยตามเนื้อเรื่องให้ทัน และพอสมองของเราถูกใช้ไปกับการตามเนื้อเรื่องให้ทัน อารมณ์ความรู้สึกของเราก็จะไม่มีโอกาสถูกดูดซึมเข้าไปในตัวละครได้มากนัก

6.ประเด็นหลักของละครเวทีเรื่องนี้คืออะไร เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกันนะ แต่สิ่งที่เราประทับใจจากละครเวทีเรื่องนี้ก็คือมันทำให้เรานึกถึงประเด็นเรื่องทางเดินในชี่วิตน่ะ คล้ายๆกับบทกวี THE ROAD NOT TAKEN ของ Robert Frost ทั้งการเลือกเรียนสายวิทย์หรือสายศิลป์, การเลือกว่าจะเรียนคณะอะไร, การต้องตัดสินใจว่าจะลาออกจากมหาลัยเพื่อเอ็นท์ใหม่ดีหรือไม่, การเลือกแฟน, การเลือกว่าจะทำงานโดยเน้นไปที่ ผลงานหรือเน้นไปที่ สวัสดิภาพของลูกน้อง”, การตัดสินใจว่าจะลาออกจากงานเพื่อไปหางานใหม่ดีหรือไม่ โดยที่การเลือกและการตัดสินใจต่างๆเหล่านี้ บางครั้งมันก็เลือกใหม่ได้ ย้อนกลับไปเริ่มต้นใหม่ได้ โดยที่เราต้องยอมเสียเวลา แต่ในบางครั้งมันก็เลือกใหม่ไม่ได้ อย่างเช่นในกรณีของพนักงานบริษัทที่แท่นขุดเจาะกลางทะเล (ถ้าเราเข้าใจไม่ผิด) และกรณีของหญิงสาวกับหนุ่มหล่ออารมณ์ร้อน

7.ชอบการแสดงของนักแสดงเกือบทุกคนในเรื่องนี้ โดยเฉพาะนักแสดงหน้าเก่า เรารู้สึกเหมือนกับว่ามันเป็นการถ่วงสมดุลกับเรื่อง DEAR ANGEL (2015) ของนินาทที่ใช้นักแสดงหน้าใหม่หมด คือใน DEAR ANGEL นั้น ความดีงามของเรื่องมันต้องพึ่ง เนื้อเรื่องเป็นอย่างมาก ไม่สามารถพึ่งพาความสามารถของนักแสดงหน้าใหม่ได้ แต่ใน FOSSILS นี้ เราได้รับอรรถรสจากความสามารถของนักแสดงอย่างเต็มที่

จริงๆแล้วชอบเกือบทุกคนในเรื่องนะ บทแม่เลี้ยงเลสเบียนเราก็ชอบมาก, บทเด็กหนุ่ม stalker เราก็ชอบมาก อีกคนที่ชอบมากก็คือคุณฉัตร วงษ์ชัยบูรณ์ในบทอาจารย์มหาลัย เพราะเราว่าตัวละครตัวนี้ดูแล้วแอบนึกถึงคุณฮูก อรรถพล อนันตวรสกุล นักแสดงละครเวทีที่เป็นอาจารย์มหาลัยจริงๆ

8.อันนี้ไม่เกี่ยวกับละคร แค่จะบอกว่าเราก็เป็นเด็กซิ่วเหมือนกัน 555 เราเรียนสายศิลป์คำนวณตอนอยู่มัธยม แล้วก็สอบเทียบตอนจบม. 5 แล้วไปเรียนบัญชี จุฬาอยู่ปีนึง แต่พอปีต่อมาเราก็ตัดสินใจเอ็นท์ใหม่แล้วก็ติดอักษร จุฬา เพราะฉะนั้นตอนที่ดูละครเวทีเรื่องนี้ เราก็เลยนึกถึง ทางเดินในชีวิตตัวเองอยู่เหมือนกัน

เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเราตัดสินใจถูกหรือเปล่านะ คือถ้าย้อนเวลากลับไปช่วงตันปี 1990 ได้ เราก็คงจะเลือกเรียนบัญชีปีนึง แล้วค่อยไปเข้าอักษร จุฬาในปีต่อมาเหมือนเดิมน่ะแหละ 555 เพราะรู้สึกว่าช่วงเวลาตอนนั้นมันลงตัวดี ช่วงเวลาที่เราเรียนบัญชีปีนึง เราก็มีความสุขมากๆ เพราะเราแทบไม่เข้าห้องเรียนเลย เราใช้เวลาไปขลุกอยู่กับเพื่อนๆมัธยมและนั่งจัดอันดับเพลงกันอย่างบ้าคลั่งแทน


แต่ถ้าย้อนเวลากลับไปตั้งแต่ต้นปี 1988 เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเราจะยังเลือกเรียนสายศิลป์คำนวณเหมือนเดิมหรือเปล่านะ บางทีเราก็แอบจินตนาการว่า ถ้าหากเราเลือกเรียนสายวิทย์ตอนมัธยมปลาย ตอนนี้ชีวิตเราจะเป็นอย่างไรไปแล้วบ้าง บางทีตอนนี้ชีวิตเราอาจจะเป็นเหมือนเดิมก็ได้ หรือบางทีตอนนี้เราอาจจะมีผัวไปแล้วก็ได้ ใครจะไปรู้

No comments: