A TRICK OF THE LIGHT กลแสง (1996, Wim Wenders,
A+25)
1.หนังเรื่องนี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็น essay film
เพราะมันมีทั้งส่วนที่เป็นสารคดีกับเรื่องแต่งมาผสมรวมกัน ตัวเรื่องหลักๆเล่าเรื่องของสามพี่น้องตระกูล
Skladanowsky ผู้สร้างเครื่อง bioscope ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องฉายภาพยนตร์รุ่นแรกของโลก
และสามพี่น้องคนนี้ยังใช้เครื่อง bioscope ในการจัดฉายภาพยนตร์ของตนเองต่อหน้าสาธารณชนในวันที่
1 พ.ย. 1895 ด้วย แต่พอสองพี่น้อง Lumiere จัดฉายภาพยนตร์ของตนเองในวันที่
28 ธ.ค. 1895 คนส่วนใหญ่ก็หันไปชื่นชมภาพยนตร์ของสองพี่น้อง Lumiere กัน
และส่งผลให้ชื่อเสียงในฐานะผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องแรกหรือบิดาแห่งภาพยนตร์ไปตกอยู่ที่สองพี่น้อง
Lumiere กันหมด ทั้งที่จริงๆแล้วสามพี่น้อง Skladanowsky
ก็ควรจะได้รับเสียงชื่นชมด้วยเช่นกัน
2.เราดูหนังเรื่องนี้แล้วร้องไห้ โดยที่วิม เวนเดอร์สไม่ต้องพยายามบีบให้เราร้องไห้เลย
เราร้องไห้ในส่วนที่เป็นสารคดี ซึ่งเป็นส่วนที่วิม เวนเดอร์สกับทีมงานไปสัมภาษณ์ลูกสาวของ
Max Skladanowsky ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ประดิษฐ์เครื่อง
bioscope โดยตัวลูกสาวนี่มีอายุ 91 ปีแล้วขณะให้สัมภาษณ์
ฉากที่ลูกสาววัย 91 ปี พลิกดูอัลบัมภาพเก่าๆของตระกูลตัวเอง
และเล่าเรื่องราวในอดีตที่เกี่ยวข้องกับภาพแต่ละภาพ
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเหตุการณ์เมื่อ 70-80 ปีก่อนมันทำให้เราร้องไห้น่ะ ทั้งๆที่เราเองก็ไม่รู้ว่าร้องไห้เพราะอะไรกันแน่
มันเหมือนกับว่าการได้รำลึกถึงอดีต 70-80
ปีก่อนที่ไม่มีวันหวนคืนมามันทำให้เราเศร้ามั้ง
เรามักจะเศร้ากับความจริงของโลกนี้ที่ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตมันไม่มีทางหวนกลับมาได้
แต่เราสงสารตระกูลนี้มากๆเลยนะ คือถ้าไม่ดูหนังเรื่องนี้
เราก็ไม่เคยได้รู้เรื่องอะไรพวกนี้มาก่อนเลย เราก็ยังคงนึกว่า Lumiere เป็นเจ้าแรกอยู่
ทั้งที่จริงๆแล้วมันอาจจะมีหลายๆคนที่ประดิษฐ์ภาพยนตร์และเครื่องฉายภาพยนตร์ออกมาในเวลาไล่เลี่ยกันหลายเจ้าในยุคนั้น
เพียงแต่ว่าเครื่องที่ Lumiere ประดิษฐ์ออกมามันเจ๋งสุด
และมันได้รับความนิยมมากกว่าเครื่องอื่นๆที่ออกมาในเวลาไล่เลี่ยกัน
คนในยุคหลังๆก็เลยจดจำ Lumiere เพียงเจ้าเดียว
เราว่าสามพี่น้อง Skladanowsky นี่อาภัพจริงๆนะ
ทำไมชีวิตมนุษย์มันโหดร้ายขนาดนี้ คือนอกจากสามพี่น้องนี่จะประดิษฐ์เครื่อง bioscope
ในปี 1895 แล้ว ในเวลาต่อมาพวกเขายังประดิษฐ์วิธีการสร้างภาพสามมิติในแบบของตัวเอง
และวิธีการสร้างภาพถ่ายสี และภาพยนตร์สีในแบบของตัวเองด้วย (ถ้าเราเข้าใจไม่ผิด)
เพียงแต่ว่าสิ่งที่พวกเขาประดิษฐ์มันไม่ได้รับความนิยมแพร่หลาย
ทุกคนก็เลยลืมเลือนพวกเขาไปหมด
3.หนังเรื่องนี้เน้นความน่ารักของเด็กหญิงตัวเล็กๆเหมือนหนังเรื่องอื่นๆของเวนเดอร์สอย่าง
THE SCARLET LETTER (1973) และ ALICE IN THE CITIES (1974) ด้วย
4.หนังเรื่องนี้ยังพาเราไปรู้จักกับสิ่งประดิษฐ์ต่างๆในยุคนั้นที่เป็นใบเบิกทางไปสู่ภาพยนตร์ด้วย
ทั้ง magic wheel, magic lantern และ flip book
5.แต่สาเหตุที่ไม่ได้ชอบถึงระดับ A+30
เป็นเพราะว่าช่วง 15 นาทีสุดท้ายของหนังเรื่องนี้มันยืดมาก
คือหนังเรื่องนี้เวนเดอร์สทำร่วมกับนิสิตมหาลัยแห่งหนึ่ง และช่วง 15
นาทีสุดท้ายมันมีแต่อะไรก็ไม่รู้ซ้ำไปซ้ำมา
เราก็เลยสงสัยว่าผู้สร้างหนังกลุ่มนี้ถูกใครบังคับให้ทำหนังยาว 75
นาทีหรือยังไงกันแน่ คือเนื้อหาของหนังมันจบไปใน 60 นาทีแรกแล้ว แล้วก็มีฉาก end
credit ต่อมาอีก 15 นาที ซึ่งเป็นการ repeat ฉากบางฉากซ้ำไปซ้ำมา
เราก็เลยงงว่ามันทำไปเพื่ออะไร
No comments:
Post a Comment